ลำน้ำเพชรบุรี หรือ ที่เรียกกันสั้นๆว่าลำน้ำเพชรฯ เป็นลำน้ำที่มีความคดเคี้ยว ทำให้เกิดวังน้ำที่มีน้ำขังอยู่ตลอดปีกระจายอยู่ทั่วไป บางแห่งก็มีพืชขึ้นปกคลุมหนาทึบ
และด้วยความที่ห่างไกลจากการรบกวนของมนุษย์ ลำน้ำสายนี้จึงเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญ พันธุ์อย่างยิ่งชนิดหนึ่ง นั่นคือ จระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile: Crocodilus siamensis) ภาพถ่ายและหลักฐานต่างๆ ในอดีตยืนยันตรงกันว่า ลำน้ำสายนี้เคยมีจระเข้น้ำจืดอาศัยอยู่มากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันแม้จะมีรายงานการพบจระเข้น้ำจืดในผืนป่าอนุรักษ์บางแห่งของไทย แต่ทว่าส่วนใหญ่ก็อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า สิ้นหวัง ไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติได้อีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาของการสำรวจลำน้ำเพชรฯ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แหล่งที่อยู่แห่งเดียวที่มีรายงานการสืบพันธุ์ของจระเข้น้ำจืดของไทยในธรรมชาติ
การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการนำของ หัวหน้าชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมี ดอกเตอร์จอห์น ทอร์ปจาร์นาร์สัน (John Thorbjarnarson ) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านชีววิทยาจระเข้ และทีมสำรวจจาก สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (ประเทศไทย) ร่วมทีมไปด้วย
การสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันกับที่มีการรายงานการพบรังของจระเข้ในปีที่ผ่านมาและปีก่อนๆ การเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายต้องใช้ทั้งการเดินเท้าและการใช้แพยางในการข้ามฟาก
หลังจากที่เดินทางมากว่าค่อนวัน ดูเหมือนว่าเราจะโชคดีที่พบรังจระเข้หนึ่งรังกลางพงอ้อที่รกทึบใกล้กับจุดที่พบในปีก่อน แต่แล้ว… ในเย็นของวันที่สองขณะที่เราเดินผ่านบริเวณรังเพื่อเตรียมลอยเรือ สำรวจในเวลากลางคืน เราก็พบกับสิ่งผิดสังเกต เราได้ยินเสียงสัตว์ตัวหนึ่งวิ่งหนีออกจากจุดที่เพบรัง คงเพราะเห็นพวกเรา เราเข้าไปดูที่รังก็พบว่า “ไข่จระเข้ 2 ฟองถูกทำลาย”
เจ้าของเสียงวิ่งที่เราได้ยินก่อนหน้านี้คือเจ้าของผลงานอันน่าสลดที่ทุกคนในทีมลงความเห็นตรงกันว่ามันคือ เหี้ย (Varanus salvator) ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพบเหี้ยเข้าทำลายรังของจระเข้ จากการบอกเล่าของชาวกะหร่างในพื้นที่และจากประสบการณ์การเฝ้าระวังรังเมื่อปีที่แล้วทำให้เรารู้ว่า เหี้ย คือตัวการสำคัญที่เข้าทำลายรังและไข่จระเข้ในบริเวณนี้ แม้บทเรียนเมื่อปีก่อนทำให้อุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังในปีนี้เป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก แต่ด้วยเหตุสุดวิสัย ไข่จระเข้ 2 ฟองจึงได้ถูกทำลายไป และเรารู้ดีว่า “ไข่ที่เหลือคงไม่รอดหากเรายังไม่คิดจะทำอะไร”
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแม่จระเข้ไม่เข้ามาปกป้องไข่และรัง ทั้งๆที่ มันคือหนทางเดียวที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ของมันไว้ อันที่จริงแล้ว จระเข้เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิตัวเองได้หรือที่เมื่อก่อนเรา เรียกว่า “สัตว์เลือดเย็น” จึงไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับไข่ในรังได้ด้วยตัวเอง จระเข้อาศัยวัสดุอื่นๆ มากองทับถมเป็นกองรังแทนการกกไข่
อีกเหตุผลหนึ่ง เราเชื่อว่าในอดีตอาจจะมีจระเข้บางตัวที่หวงและมีการป้องกันรังด้วยความดุร้าย แต่พวกมันมักจะตกเป็นเป้าหมายแรกของการล่าจนทำให้หมดไป ที่เหลือรอดในปัจจุบันก็มีแต่จระเข้ที่ขี้ระแวง ไม่กล้าที่จะเข้าปกป้องรังอีกต่อไป
และแล้วก็เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ในวันถัดมาไข่จระเข้อีกหลายฟองถูกเหี้ยขุดขึ้นมากิน แม้ว่าเราจะพยายามกลบรอยเก่าและนำกิ่งไม้มาวางกีดขวางเสริมไว้ แต่นั่นก็ยังไม่พอที่จะยับยั้งความหื่นกระหายของผู้ล่าทั้งหมดได้ คำสั่งเคลื่อนย้ายไข่จระเข้ฉบับเร่งด่วนจึงเกิดขึ้นด้วยวิจารณญาณของหัวหน้าชัยวัฒน์ผู้นำทีมสำรวจ และภายใต้การติดตามอันใกล้ชิดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่วนจอห์นนักวิชาการผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องนี้ก็คอยให้คำแนะนำทางเทคนิค อย่างใกล้ชิด เรากลับมาหารือกันที่ที่ทำการอุทยานฯ ก่อนจะแบ่งทีมออกเป็น 2 ส่วน ทีมแรกทำการจัดเตรียมห้องฟัก เพิ่มหลอดไฟ ติดตั้งตัววัดอุณหภูมิและความชื้น ทีมที่สองจัดเตรียมเรือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการเคลื่อนย้าย ทุกฝ่ายต้องทำงานแข่งกับเวลา
บ่ายของวันถัดมาทีมขนย้ายไข่ซึ่งประกอบไปด้วยหัวหน้าชัยวัฒน์ จอห์น ผู้เขียน และคนคุมเรือหางยาวรวม 4 คนก็เริ่มออกเดินทาง แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำเรือหางยาวทวนกระแสน้ำเชี่ยวที่มีแก่งอันตรายหลายสิบแก่ง แต่ด้วยความชำนาญของคนเรือเราจึงถึงที่หมายได้ตามกำหนด
เมื่อไปถึง เราก็ไม่รีรอที่จะเปิดรังและนำวัสดุจากรังบรรจุลงกล่องขนย้าย ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่นุ่มนวล มีการทำเครื่องหมายบนเปลือกไข่เพื่อบอกถึงลักษณะการวางตัวของไข่แต่ละฟองในรัง เพราะการพลิกหรือเปลี่ยนลักษณะการวางอาจทำให้ตัวอ่อนในไข่ตายได้ เมื่อกลบไข่ใบสุดท้ายในกล่องด้วยวัสดุจากรังแล้ว ทุกคนก็นับถอยหลังที่จะกลับไปถึงอีกฝั่งอย่างปลอดภัยพร้อมกับไข่จระเข้
นับเป็น 3 ชั่วโมงที่ยาวนานบนเรือลำนั้น พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า บรรยากาศโพล้เพล้กระตุ้นให้ทุกคนในเรือจดจ่อไปที่ฝั่งเบื้องหน้าเพราะ “เวลาเรากำลังจะหมด” ท้ายที่สุดไข่ทั้งหมด 23 ฟองที่เหลือก็มาถึงที่ทำการอุทยานฯ อย่างปลอดภัยในเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ภารกิจขนย้ายเสร็จสิ้น แต่ยังต้องมีการตรวจสภาพไข่ครั้งสุดท้ายก่อนส่งเข้าห้องฟักซึ่งมีการเตรียม พร้อมไว้ก่อนหน้า สีหน้าบรรดาผู้สังเกตการณ์หลายคนเปลี่ยนไป บรรยากาศเริ่มเงียบเมื่อได้ยินผลจากการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า “ไข่ทั้งหมดไม่ได้รับการผสม และดูเหมือนว่าที่เหนื่อยมาทั้งหมดจะสูญเปล่า” แต่หากหันมามองคนอื่นๆในทีมกลับเป็นคนละบรรยากาศ เราเริ่มวางแผนการสำรวจในครั้งต่อไป
เป็นความจริงที่ภารกิจในวันนี้ทำให้ทุกคนในทีมเหนื่อยล้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความหวังของการอนุรักษ์จระเข้แห่งลุ่มน้ำเพชรจะหมด ไป ตอนนี้เรามีความเข้าใจมากขึ้นถึงลักษณะพื้นที่ที่จระเข้อาศัยอยู่ ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งตลอดลำน้ำเพชรฯ ที่ยังรอการสำรวจ เราตั้งปณิธานว่า “เราจะไม่รอเป็นพยานที่เพียงเฝ้าดูสัตว์สำคัญชนิดนี้สูญพันธุ์ไปต่อหน้าโดยไม่ทำอะไรเลย” การสำรวจครั้งหน้ากำลังจะมีขึ้นภายในอีกไม่กี่วัน ก็ได้แต่หวังว่าคงจะได้มีข่าวดีกลับมาฝากทุกคน…
คลิปวีดีโอการสำรวจจระเข้น้ำจืด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เรื่องโดย: มนูญ ปลิวสูงเนิน
ภาพประกอบ: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย / อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
วีดีทัศน์: ศุธภที สีทองดี
ติดตามความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจระเข้น้ำจืด: สถานภาพ ถิ่นอาศัย และบทบาทเชิงนิเวศวิทยา >>