จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นผู้ล่าขนาดใหญ่ เป็นสัตว์หายากพบได้ตามแหล่งน้ำนิ่งที่ห่างไกลจากชุมชน จระเข้น้ำจืด (Siamese crocodile) และจระเข้น้ำเค็ม (Saltwater crocodile) ที่พบในประเทศไทยต่างจัดว่าเป็นสัตว์ในกลุ่มที่เรียกว่า จระเข้แท้ (true crocodile) จระเข้ในกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือ มีจมูกที่ยื่นยาวเป็นรูปตัววี (V-shaped) สามารถมองเห็นฟันล่างได้แม้ในขณะที่หุบปาก ด้วยขากรรไกรที่แข็งแรง หางอันทรงพลัง และลำตัวที่หุ้มด้วยเกล็ดหนาแลดูน่าเกรงขาม ทำให้จระเข้เป็นสัตว์ผู้ล่าที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปร่างใดมากนัก แม้จะผ่านมาแล้วหลายล้านปีหน้าตาของจระเข้ก็ยังคงเดิม ในธรรมชาติเราจะพบจระเข้น้ำจืดในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น วัง บึง หรือบ่อตามธรรมชาติที่มีวัชพืชขึ้นรกทึบ สามารถเป็นที่อำพรางตัวที่ดี
ความยาวตลอดลำตัว จากปลายจมูกถึงปลายหางส่วนใหญ่จะไม่เกิน 3 เมตร โดยจระเข้เพศผู้มักมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย และจากการที่จระเข้ทุกชนิดนั้นมีรูปร่างที่คล้ายกันมาก ความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของลำตัวและน้ำหนักของจระเข้ทุกชนิดจึงคล้ายคลึงกันด้วย ดังแสดงในตาราง
จระเข้น้ำจืดเพศผู้จะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 10-15 ปี จระเข้เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนซึ่งอาจถึง 70 ปี ดังนั้น เมื่อประชากรจระเข้ถูกคุกคามจนเหลือน้อย จึงจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าที่จำนวนประชากรจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ เพราะจระเข้ใช้เวลาเติบโตนานกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ รังของจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติมีลักษณะเป็นมูลดิน มีเศษไม้และไม้วัชพืช จำนวนไข่ที่วาง ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของแม่จระเข้ ซึ่งอยู่ในช่วง 10-60 ฟอง เพศเมียจะคอยเฝ้าระวังตลอดเวลาในขณะที่ไข่อยู่ในรัง โดยไข่ใช้เวลา 2-3 เดือนในการฟัก หลังจากที่ไข่ฟักแม่จระเข้จะค่อยๆ คาบลูกจระเข้และไข่ที่ไม่ฟักลงน้ำไป
ในระบบนิเวศ จระเข้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมสมดุลของสัตว์น้ำที่เป็นเหยื่อ ช่วยให้มีความหลากหลายของสัตว์น้ำ ช่วยกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด มีบทบาทในการย่อยสลายและหมุนเวียนธาตุต่างๆในระบบนิเวศ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ทัศนคติของมนุษย์บางครั้งก็ส่งผลลบต่อจระเข้ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 20 มีการล่าจระเข้อย่างหนักเพื่อเอาหนังและการบริโภค ผนวกกับแหล่งอาศัยถูกเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ประชากรจระเข้ทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันจระเข้น้ำจืดยังสามารถพบได้ในไม่กี่ประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า เวียตนาม และประเทศไทย สถานภาพการอนุรักษ์จัดว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical endangered: IUCN 2009) ในบางประเทศก็กำลังให้ความสนใจในการหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าหายากชนิดนี้ ดังเช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำจระเข้เลี้ยงมาปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยมีจระเข้ธรรมชาติอาศัยอยู่ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา และในบางพื้นที่ของประเทศเวียตนาม
ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรม : การสำรวจจระเข้ ได้ที่นี่ >>
> บันทึกการสำรวจลำน้ำเพชรฯ กับความหวังสุดท้ายของจระเข้น้ำจืดไทย Part 1
> บันทึกการสำรวจลำน้ำเพชรฯ กับความหวังสุดท้ายของจระเข้น้ำจืดไทย Part 2