ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2552 เจ้าหน้าที่สายตรวจส่วนกลางได้เข้าสำรวจพื้นที่ร่วมกับฝ่ายวิชาการ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในบริเวณลำน้ำเพชร โดยมี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นผู้นำทีมสำรวจ ติดตามด้วยเจ้าหน้าที่จาก สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) อีก 2 นายคือ นายศุธภที สีทองดี และนายสันติ ช่วยชูกลิ่น วัตถุประสงค์ของการสำรวจครั้งนี้คือ เพื่อหาร่องรอยของจระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile) เป็นครั้งที่สอง สืบเนื่องจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และตามที่ได้รับรายงานการพบร่องรอยจระเข้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยจุดเริ่มต้นของการสำรวจเริ่มตั้งแต่ KU แค้มป์ ถึงหน่วยแม่เสลียง การเดินทางสำรวจในครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 3วัน 2คืน และใช้เรือยางเป็นพาหนะหลักในการสำรวจ
วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 หลังจากออกเดินทางจาก KU แค้มป์ เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนทางน้ำจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้พบจระเข้ขนาดเล็กกระโจนลงน้ำบริเวณซับชุมเห็ดจำนวน 1 ตัว ขนาดความยาวประมาณ 1 เมตร ทีมสำรวจจึงทำการบันทึกภาพและวัดขนาดร่องรอย
จากนั้นจึงเข้าสำรวจพื้นที่ซับชุมเห็ดที่มีสภาพเป็นป่าพงและป่าอ้อโดยรอบ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของจระเข้แต่อย่างใด พบเพียงแต่รอยตีนเก้งและกวางที่มาหากินบริเวณริมลำน้ำเพชร จนเมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำ ทีมสำรวจจึงหยุดพักแรมที่ซับชุมเห็ด
เช้าวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ทีมสำรวจเริ่มออกเดินทางต่อ แต่ไม่พบร่องรอยของจระเข้แต่อย่างใด ลำน้ำเพชรในช่วงที่เลยจากซับชุมเห็ดมีลักษณะเป็นแก่งขนาดใหญ่จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทางเป็นอย่างมาก ชุดสำรวจเดินทางมาถึงวังข่าในช่วงเวลาเย็นจึงหยุดพักแรม เนื่องจากต้องการสำรวจในพื้นที่บริเวณวังข่าต่อในช่วงเวลากลางคืน หลังจากจัดเตรียมที่พักและรับทานอาหารเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 1 ทุ่มจึงได้เริ่มการสำรวจ การสำรวจช่วงค่ำนี้ใช้เวลาประมาณ 1ชั่วโมง แต่ก็ไม่พบข้อมูลใดๆ
เช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ขณะเตรียมตัวเดินทางกลับ ก็มีผู้พบเปลือกไข่จระเข้ที่ถูกทำลายแล้วจำนวน 2 ฟอง หัวหน้าฯ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จึงสั่งการให้สำรวจพื้นที่วังข่าอีกครั้ง ชุดสำรวจได้พบเพียงรังเก่าของปีก่อน เมื่อไม่พบร่องรอยรังจระเข้ใหม่ที่คาดว่าเป็นที่มาของเปลือกจระเข้ดังกล่าว จึงตัดสินใจเดินทางกลับยังหน่วยแม่เสลียงในเวลาต่อมา
คลิปข่าวและเนื้อหาจาก : ช่อง9 สำนักข่าวไทย
เรื่องโดย: สันติ ช่วยชูกลิ่น
ภาพประกอบ: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย / อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ติดตามความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจระเข้น้ำจืด: สถานภาพ ถิ่นอาศัย และบทบาทเชิงนิเวศวิทยา >>