สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สนับสนุนวิทยากรสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติ” ภายใต้การบริหารของส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ในด้านการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการใช้โปรแกรมฐานข้อมูลการลาดตระเวน (Spatial Monitoring And Reporting Tool) ในการจัดการข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการลาดตระเวนในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการฝึกอบรมประกอบด้วย รุ่นที่ 1 สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการลาดตระเวน เจ้าหน้าที่จำนวน 53 คน และรุ่นที่ 2 สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านฐานข้อมูล เจ้าหน้าที่จำนวน 36 คน ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2558 ณ อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยผู้เข้ารับการอบรมมาจากหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยป้องกันรักษาป่า ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น
สำหรับรุ่นที่ 1 ทางเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในหัวข้อวิชาการในด้านการใช้อุปกรณ์ในการลาดตระเวน เช่น การใช้แผนที่ เข็มทิศ เครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) และการใช้แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลลาดตระเวน ในขณะที่คณะครูฝึกจากกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์สืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 3 ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการฝึกทบทวนทักษะและเทคนิคการลาดตระเวนที่สำคัญ เช่น ระเบียบแถว เทคนิคการเคลื่อนที่ เป็นต้น
จากการทดสอบฝึกปฏิบัติในแต่ละหัวข้อพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่สามารถอ่านค่าพิกัดบนแผนที่คู่กับการใช้งาน GPS ได้อย่างคล่องแคล่วและมีความมั่นใจมากขึ้น สามารถทำการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวนได้อย่างถูกต้อง แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องอาศัยการทบทวนเพิ่มเติม
สำหรับรุ่นที่ 2 ทางเจ้าหน้าที่สมาคมฯ อบรมเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมฐานข้อมูลการลาดตระเวน SMART ในการจัดการฐานข้อมูลของงานลาดตระเวน โดยเนื้อหาหลักของการฝึกอบรมในครั้งนี้เน้นด้านการจัดการฐานข้อมูลลาดตระเวน เช่น การตั้งค่าต่าง ๆ ของพื้นที่อนุรักษ์ การกำหนดโครงสร้างฐานข้อมูล การนำเข้าข้อมูลสังเกตการณ์ การลงข้อมูลการลาดตระเวน การสืบค้นข้อมูล และการสร้างรายงานการลาดตระเวน เป็นต้น
ผลจากการอบรมพบ่วาผู้เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่สามารถใช้คำสั่งต่าง ๆ ในโปรแกรม SMART ได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังมีบางส่วนที่ยังต้องอาศัยการทบทวนเพิ่มเติม