“ป่ะพี่ ไปล่องแพกัน” ประโยคคำถามที่ผมถามพี่ป่าน (ผช. ฉัตรวรุฬ อ่างแก้ว)
แต่อย่าเพิ่งคิดว่าผมชวนผู้ช่วยไปเที่ยวล่องแก่งอย่างเดียวนะครับ แต่ผมยื่นข้อเสนอเชิงเชิญชวนให้ผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปดูการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรที่เราป้องกันและจัดการอยู่
และการเปลี่ยนแปลงนี้มีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นมาก
แต่เพียงแค่คำพูดที่ผมบอกมันจึงไม่น่าเชื่อถือเท่ากับไปเห็นเองกับตาครับ
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าผมกำลังเล่าถึงเรื่องอะไร? ความจริงก็คือ
ผมกำลังเล่าถึงเรื่องราวของการเดินทางของโขลงช้างป่าใช้เส้นทางหากินผ่านทางแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หรือให้พูดในทางวิชาการคือ
เราจะไปดูการกระจายของประชากรช้างป่าในบริเวณที่มีการเชื่อมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์นั่นเอง
หลังจากหลอกล่ออยู่พอนาน ก็ได้รับการตอบรับของสมาชิกร่วมทริปทั้ง 2 คน คือ พี่ป่านและเอ็ม เป็นการเริ่มต้นการเดินทางทริปเล็ก ๆ ของเราทั้ง 3 คน และผมขอเรียกชื่อทริปนี้ว่า “ลาดตระเวนทางน้ำ” (3-5 เมษายน 2558)
เริ่มต้นออกจากสำนักงานเขตทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกโดยรถกระบะขับเคลื่อน 2 เพลา ไปตามถนนดินที่มีปลายทางเดียวคือหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยคือบน
การเดินทางหน้าแล้งดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับที่นี่เพราะถ้าเจอฝนแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นถนนอาจจะไม่ใช่กับสิ่งที่เจ้าหน้าที่เจอในช่วงหน้าฝน
เราเดินทางถึงหน่วยฯห้วยคือบน จากนั้นต้องเดินเท้าต่อประมาณ 3 ก.ม. แต่เป็น 3 ก.ม.ที่ต้องลงเขาอย่างเดียวเหมือนกับเราค่อยๆห้อยจากเชือกลงหน้าผาจำลองประมาณนั้น
ระหว่างทางเราจะผ่านด่านช้างขนาดใหญ่ที่โขลงช้างป่าใช้เดินทางหากินจากอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เข้ามาในเขตฯทุ่งใหญ่นเศวรด้านตะวันตก
ซึ่งเส้นทางนี้ช้างจะใช้ประมาณปีละ 2 ครั้งคือ ขาไปและขากลับ
จากการสำรวจเบื้องต้นคือ 1 วงรอบใน 1 ปี
และที่สำคัญสามารถถ่ายภาพช้างป่าโดยกล้องดักถ่ายได้ถึง 17 ตัวบนเส้นทางนี้
เมื่อเดินมาถึง จุดเริ่มต้นลาดตระเวนคือ จุดสกัดทางน้ำห้วยคือล่าง
บรรยากาศที่นี่เรียกว่าสวยแบบบรรยายไม่ได้เลย
เรียกว่าถ่ายรูปออกมามุมไหนก็ดีไปซะหมด เราพักค้างแรมที่จุดสกัด 1 คืนแล้วเริ่มต้นลาดตระเวนไปยังจุดหมายซึ่งเป็นที่ที่เคยสำรวจพบร่องรอยช้างข้ามแม่น้ำแม่กลองจากห้วยขาแข้งมาหากินในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
เราออกเดินตามลำน้ำแม่กลองสวนสายน้ำขึ้นไปและไปข้ามแม่น้ำที่แก่งซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่าแก่งตาพร
แต่เวลาผ่านไป เรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย
ชื่อของแก่งนี้ก็เปลี่ยนแปลงตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ปัจจุบันนี้ชื่อแก่งนี้คือ
แก่งซีสาม
ถ้าจะให้ท้าวความถึงความเป็นมาของชื่อแก่งนี้เรื่องอาจจะยาวเกินไปผมจึงขอข้ามเรื่องนี้ไปก่อนนะครับ
เมื่อเราข้ามแม่น้ำแล้วเราก็เดินตามด่านสัตว์ขึ้นเขามาเรื่อย ๆ จนเจอโป่งหอม
และเราก้อจัดแจงที่พักค้างแรมบริเวณนั้น
โป่งหอมเป็นโป่งน้ำ
ซึ่งโป่งน้ำ หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซึมหรือน้ำซับออกมาตลอดทั้งปี
และมีการเจือปนของแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในน้ำและดินโป่ง
หมายความว่าสัตว์ป่าในบริเวณนี้จึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากโป่งนี้ในการดำรงชีวิต
โป่งหอมมีลักษณะมีลักษณะเป็นหินปูนปะปนอยู่กับดินและมีน้ำที่มีลักษณะขาวขุ่นซึมออกมา
ซึ่งผมเดาว่ามี กำมะถันและแร่ธาตุอื่น ๆ เจือปนมากับน้ำที่ซึมออกมา
และความโชคดีของการเข้ามาดูโป่งหอมครั้งนี้คือ เราได้เจอกระทิงโทนตัวผู้ขนาดใหญ่ 1 ตัว แทบไม่ต้องเราความตื่นเต้นของเราที่ได้เจอเลย
แต่ส่วนเจ้าหน้าที่คงพบกันเป็นเรื่องปกติราวกับเพื่อนมาเยี่ยมเยือนกัน
เช้าอีกวันเราเราเดินเลาะไหล่เขาลงเข้าหาแม่น้ำอีกครั้งเพื่อจะไปจุดหมายในการสำรวจคือปากห้วยสองรู
คำว่า “สองรู” หมายความว่า
สายน้ำเริ้มมาจากต้นน้ำเดียวกันแต่ไหลแยกออกจากกันลงแม่น้ำหลักเป็น 2 ทางซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ปากห้วยสองรู เราเดินสำรวจบริเวณรอบ ๆ ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำโดยใช้อุปกรณ์ที่ติดตัวเป็นตัวช่วยในการข้ามแม่น้ำที่ไหลค่อนข้างแรงไปมาโดย
ไม้ไผ่ ถุงทะเล (Oceanpack) หรือแม้กระทั่งรองเท้าบูธยาง
และแล้วเราก็พบร่องรอยทั้งรอยตีนและขี้ช้างป่าริมลำน้ำแม่กลองอย่างที่เราหวังเอาไว้
ลักษณะเหมือนกำลังขึ้นจากแม่น้ำเข้ามาในฝั่งเขตฯ ทุ่งใหญ่ตะวันตก ผมและผู้ช่วยจึงใช้เวลาพอสมควรในการเก็บข้อมูล
ส่วนเจ้าหน้าที่และเอ็มก็ใช้เวลาเดียวกันในการตัดไม้ไผ่บงซึ่งต้องขึ้นไปตัดบนไหล่เขาแล้วไหลลงมาเพื่อนำมาต่อเป็นแพ
(ไผ่ส่วนใหญ่ที่อยู่ริมน้ำบริเวณปากห้วยสองรูจะเป็นไผ่หนามซึ่งตัดมาทำแพได้ยากมาก)
เราใช้เวลาช่วงเย็นหลังจากทำภารกิจเสร็จสิ้นช่วยกันต่อแพโดยรวบรวมเชือกทั้งหมดที่เรามีและทำตอกจากไม้ไผ่ผูกยึดลำไผ่ที่เราตัดกันมาทีละลำจนกลายเป็นแพ
เช้าวันที่
5
เมษายน 2558 เราเริ่มต้นลาดตระเวนทางน้ำโดยการล่องแพ
2
ลำค่อยๆไหลตามกระแสน้ำลงไปพร้อมกับไม้พายและไม้ทอที่ทำจากไม้ไผ่เพื่อใช้บังคับทิศทาง
และตรวจเช็คการลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำและตรวจเช็คทางเข้าเส้นทางต่าง ๆ ที่ใช้เป็นทางเข้าไปกระทำผิดในพื้นที่ทุ่งใหญ่ตะวันตก
เราเริ่มฝ่าลงไปทีละแก่งจนมาสิ้นสุดการลาดตระเวนทางน้ำที่จุดสกัดทางน้ำห้วยคือล่าง
เรื่องราวที่ผมเล่าครั้งนี้ก็คงไม่ใช่ฉากจบของการทำหน้าที่ลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่
และไม่ใช่ข้อสรุปว่าการกระจายของช้างป่าเป็นไปตามที่เราสมมุติฐานเอาไว้ พรุ่งนี้
เดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ภารกิจลาดตระเวนดูแลป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป
และเช่นกันผลสำเร็จจากงานที่พวกเขาพยายามทำก็ส่งผลให้สัตว์ป่าต่างๆยังกระจายประชากรเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่พวกเขาป้องกันอยู่เหมือนกับช้างป่าที่เราทำการสำรวจกันในครั้งนี้
เรื่องราวเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ผมหวังว่ามันจะไม่มีวันจบและมันจะดีขึ้นเรื่อย
ๆ
“ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก”
บทความ Peerawit Amorntiyangkul