โครงการสำรวจติดตามการกระจายและการจัดการเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จากข้อมูลการสำรวจการกระจายของช้างป่าในปี พ.. 2546 - 2547 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่า ช้างป่าถูกคุกคามด้วยการล่า การรบกวน การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และมีการกระจายโดยใช้พื้นที่อยู่เฉพาะครึ่งพื้นที่ทางตอนล่างของอุทยานฯ นอกจากนี้ช้างป่ายังถูกคุกคามขณะที่ออกไปหากินนอกพื้นที่อุทยานฯ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-elephant Conflict: HEC)

ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมกับอุทยานฯ แก่งกระจาน กำหนดมาตรการอนุรักษ์ช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นโครงการต่าง ๆ ซึ่งนอกจากพัฒนาระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) แล้ว ทางสมาคมฯ ยังได้ติดตามศึกษาและพัฒนามาตรการบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548






ผลการติดตามปัญหาช้างออกหากินและสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตรในพื้นที่รอบอุทยานฯ ทำให้ทราบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบหลัก 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี และตำบลป่าเด็ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะที่อีก 4 ตำบลที่เหลือได้รับผลกระทบที่ลดหลั่นลงไป

จากการทดสอบประสิทธิภาพของแต่ละวิธีการฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้ช้างป่าเข้ามาสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตร อันได้แก่ 1) น้ำส้มสายชู-แขวนไว้ที่รั้ว 2) พริกสด-ตำและทาติดกับผ้าแล้วแขวนไว้ที่รั้ว 3) รั้วไฟฟ้า-ที่ใช้กับปศุสัตว์ และ 4) สัญญานเตือนและชุดเฝ้าระวัง สมาคมฯ ได้ข้อสรุปว่ามาตรการที่ใช้สัญญานเตือนร่วมกับชุดเฝ้าระวังได้ผลดีและมีศักยภาพสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในพื้นที่ จึงได้มีโครงการสนับสนุนการสร้างแนวรั้วสัญญานและชุดเฝ้าระวังขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา




 

ในตำบลหนองพลับ จังหวัดเพชรบุรี ที่มีขนาดพื้นที่เกษตรไม่ใหญ่มาก มีเขาล้อมรอบช่วยจำกัดช่องทางที่ช้างเข้าไปรบกวน รั้วสัญญานความยาว 900 เมตรผนวกกับความร่วมมือในการเฝ้าระวังที่เข้มแข็งสามารถลดผลกระทบได้มากกว่า 90% ในพื้นที่อื่นที่ช้างป่าเข้าสร้างความเสียหายบ่อยครั้ง เป็นบริเวณกว้าง มีความหลากหลายของกลุ่มคนและลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นข้อจำกัดในการใช้รั้วสัญญานและการสนับสนุนชุมชนในการเฝ้าระวัง ทางสมาคมฯ ได้ปรับรูปแบบมาสนับสนุนชุดเฝ้าระวังช้างของอุทยานฯ แทน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งชุดเฝ้าระวังฯ สามารถยับยั้งและลดความถี่ของการเกิดความเสียหายในพื้นที่ตำบลป่าเด็งได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเจ้าหน้าที่ ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้เริ่มพัฒนาแนวรั้วกึ่งถาวรขึ้นในพื้นที่ล่อแหลมที่การเฝ้าระวังยังทำได้ไม่ทั่วถึง เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งและเพื่อลดโอกาสที่ช้างจะถูกทำร้ายให้ได้มากที่สุด