ช้างป่า

สถานภาพ ถิ่นอาศัย และบทบาทเชิงนิเวศวิทยา


ช้างเอเชีย (Elephas maximus) ป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ระดับหัวไหล่ประมาณ 2.5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3 - 4 ตัน ช้างเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง (โขลง) ลูกช้างเพศผู้จะออกจากโขลงไปหากินโดยลำพังเมื่อมีอายุ 6 - 7 ปี และจะเริ่มพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 10 - 15 ปี ในช่วงนี้ ช้างเพศผู้จะมีความดุร้ายหรือที่เรียกว่า ตกมัน ส่วนช้างเพศเมียจะโตเต็มวัยและพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 15 - 16 ปี ตั้งท้องนาน 22 เดือน และตกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยแต่ละครอกมีระยะเวลาห่างกัน 4 ปี ลูกช้างจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตจากการคลอด การล่าตามธรรมชาติโดยสัตว์ผู้ล่า และจากการทำร้ายโดยช้างเพศผู้ตัวอื่นที่อยู่นอกฝูง ซึ่งเป็นกลไกที่ควบคุมสมดุลของประชากรช้างในป่า เมื่อช้างโตเต็มวัยแล้วจะมีอัตราการตายต่ำมาก ช้างบางตัวอาจมีอายุยืนถึง 60 หรือ 70 ปี

ช้างเอเชีย สามารถพบได้ในประเทศเนปาล บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และสุมาตรา การประมาณจำนวนช้างป่าเอเชียล่าสุดคาดว่า ทั่วเอเชียเหลือช้างทั้งหมด 41,410 - 52,345 ตัว (IUCN Red List, 2009) แม้ในปัจจุบันจะยังสามารถพบได้ตามพื้นที่อนุรักษ์ทั่วไป จำนวนช้างป่าไทยคาดว่าเหลืออยู่เพียง 2,500 - 3,200 ตัว (IUCN Red List, 2009) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจำกัดด้วยขนาดของพื้นที่ที่เล็กลงทุกขณะ ถูกคุกคามด้วยการล่า และกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ การขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีผลลบโดยตรงต่อช้าง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างกำลังเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและอาจขยายไปในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 20 แห่งทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้


ช้างป่าจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้รับการระบุว่า
อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: IUCN 2008) และมีชื่อในบัญชีที่ 1 ของไซเตส (CITES)

ช้างเอเชีย สามารถอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ตั้งแต่ทุ่งหญ้าไปจนถึงป่ารกทึบ ขนาดของพื้นที่ที่ใช้และประเภทของอาหารที่ช้างกินขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สภาพพื้นที่ และฤดูกาล เช่น ที่อินเดียพบว่า ช้างเพศเมียใช้พื้นที่ 184 - 326 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ ช้างเพศผู้ใช้พื้นที่ 188 - 407 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดมีขนาดใหญ่กว่าที่ศึกษาพบในประเทศศรีลังกากว่า 3 เท่าตัว ช้างเอเชียใช้เวลาส่วนใหญ่ในการกิน (14 - 19 ชั่วโมงต่อวัน) ซึ่งน้ำหนักอาหารในหนึ่งวันอาจหนักถึง 150 - 200 กิโลกรัม จากการถ่ายมูล 16 - 18 ครั้งต่อวัน จะมีมูลช้างออกมามากกว่า 100 กิโลกรัม การถ่ายมูลของช้างมีความสำคัญกับระบบนิเวศมาก นอกจากมูลที่เป็นปุ๋ยอย่างดีแล้ว การที่ช้างเดินทางในระยะไกลยังเป็นการพาเมล็ดพืชที่ช้างกินเข้าไปให้ไปเกิดในที่ที่ห่างจากต้นแม่ โดยเฉพาะเมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่ที่อาจไม่สามารถกระจายเมล็ดได้เลยถ้าไม่มีสัตว์บกขนาดใหญ่อย่างช้าง นอกจากนี้ มูลช้างยังเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ที่สำคัญของแมลงป่าหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบว่ามีแมลงอย่างน้อย 29 วงศ์ กินมูลช้างเป็นอาหาร โดยแมลงเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่ช่วยรักษาสมดุลของป่าอีกต่อหนึ่ง

จึงกล่าวได้ว่า ช้างเป็นสัตว์ที่ให้ร่มเงาแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  (Umbrella species) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ เป็นสัตว์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) เพราะถ้าหากเราสามารถอนุรักษ์ช้างได้เราก็จะสามารถอนุรักษ์สัตว์ได้อีกหลายชนิด ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันกับสัตว์สำคัญชนิดนี้ได้ 

แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ

IUCN Red List: http://www.iucnredlist.org/
ARKive: http://www.arkive.org/
โลกสีเขียว: http://www.verdantplanet.org
Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Asian_elephant

 

โครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง