ภาพรวม


ความเป็นมาของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า

Wildlife Conservation Society (WCS)



เราทำงานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า


สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 
2438 ในนาม New York Zoological Society ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสวนสัตว์ Bronx สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าใช้แนวทางต่าง ๆ ตามหลักวิชาการเพื่อปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่า พื้นที่ธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย


ประเทศไทยตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างเขตสัตวภูมิศาสตร์อินโดจีนและซุนดา ทำให้มีความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์สูงเป็นพิเศษ เช่น มีนกถึงร้อยละ 
10 ของนกในโลก และอาจเป็นไปได้ว่าจะมีประชากรย่อยของเสือโคร่งซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่มีอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำกว่า 200 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 17 ของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงจัดเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่กว้างขวาง และสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาค อันเป็นรากฐานที่มั่นคงในการอนุรักษ์แหล่งอาศัยสำคัญและหลากหลายให้แก่สัตว์ป่าในระยะยาว


อย่างไรก็ตาม ผลจากการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์อย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาทำให้สัตว์มีกระดูกสันหลังของไทยร้อยละ 12 ตกอยู่ในสถานะถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าถูกลดขนาดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอดีตศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในการคุ้มครอง ติดตามตรวจสอบ และอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่เหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนงานวิจัยภาคสนามเพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสัตว์ป่าเหล่านี้


ประวัติของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 (ประมาณ พ.ศ. 2523) เมื่อสมาคมฯ ให้การสนับสนุนงานศึกษาพฤติกรรมของชะนีโดย ดร.วรเรณ บรอคเคิลแมน และคณะ หลังจากนั้น ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ นักวิจัยของสมาคมฯ ได้เข้ามาบุกเบิกการศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาของสัตว์กินเนื้อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 (ประมาณ พ.ศ. 2530) และช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการอนุรักษ์ข้ามพรมแดนขึ้นครั้งแรกในภูมิภาค ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2547 สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่านำโดย ดร.แอนโทนี ไลนัม ให้การสนับสนุนการจัดการสัตว์ป่าและการฝึกอบรมเพื่อร่วมอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีน และสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ


ในปี พ.ศ. 2547 ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ เป็นนักชีววิทยาสัตว์ป่าไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ภายใต้การนำของ ดร.อนรรฆ ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งการอนุรักษ์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ โดยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันวิชาการ และองค์กรอนุรักษ์ภาคเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่น และนานาชาติ เพื่อรักษาสัตว์ป่า และพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย