เสือโคร่ง และเหยื่อ

สถานภาพ ถิ่นอาศัย และบทบาทเชิงนิเวศวิทยา

 

เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ของโลก เสือโคร่งแต่ละตัวมีอาณาเขตหรือพื้นที่ครอบครองที่กว้างขวาง โดยพื้นที่อาศัยของเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย จากงานวิจัยเสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในพื้นที่เขตฯ ห้วยขาแข้งพบว่า เสือเพศผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 267-300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 60-70 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตหากินของตัวเอง ในธรรมชาติเสือโคร่งอาศัยและออกหากินเพียงลำพัง ไม่พบพฤติกรรมการอยู่รวมฝูง นอกจากช่วงเวลาที่แม่เสืออยู่ในช่วงเลี้ยงดูลูก ส่วนใหญ่เสือโคร่งมักออกล่าเหยื่อในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด 


การสืบพันธุ์ของเสือโคร่ง เพศเมียจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 3 ปี ส่วนเพศผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 4-5 ปี เสือโคร่งสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ในช่วงผสมพันธุ์เสือโคร่งเพศผู้และเพศเมียจะใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 4-5 วัน และอาจผสมพันธุ์กันทุก 15 หรือ 20 นาที หลังจากการผสมพันธุ์เพศเมียจะมีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ100-103 วัน ส่วนใหญ่ออกลูกเฉลี่ย 2-4 ตัว ในธรรมชาติลูกเสือโคร่งจะมีโอกาสรอดชีวิตจนโตเต็มวัยประมาณ 50-70 เปอร์เซนต์

ในช่วงที่ลูกเสือโคร่งยังเล็กจะยังไม่สามารถออกไปหาอาหารร่วมกับแม่ จนกระทั่งลูกเสือโคร่งอายุได้ 6-7 เดือนจะเริ่มออกไปหาอาหารร่วมกับแม่ ลูกเสือจะอาศัยอยู่กับแม่ไปจนกระทั่งอายุ 18-24 เดือน จึงเริ่มแยกออกจากแม่ และหาพื้นที่อาศัยเป็นของตัวเอง

ชนิดของเสือโคร่ง

ในอดีต เสือโคร่งมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ไซบีเรีย เอเชียตะวันตก คาบสมุทรอินเดีย คาบสมุทรเกาหลี จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชวา สุมาตราและบาหลี โดยทั่วไปเสือโคร่งในทุกพื้นที่จะมีลักษณะรูปร่างและสีขนคล้ายคลึงกัน แต่หากสังเกตในรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันบางประการ จำแนกได้จากขนาดรูปร่าง ความเข้มหรืออ่อนของสี ความยาวของขน ลักษณะลวดลาย สัดส่วนของหัวกะโหลก ฯลฯ สามารถแบ่งสายพันธุ์เสือโคร่งในถิ่นต่าง ๆ ออกเป็น 8 สายพันธุ์ได้ดังต่อไปนี้

1. สายพันธุ์บาหลี (Bali tiger: Panthera tigris balica)

2. สายพันธุ์ชวา (Javan tiger: Panthera tigris sondaica)

3. สายพันธุ์แคสเปียน (Caspian tiger: Panthera tigris virgata)

4. สายพันธุ์อินโด-ไชนีส (Indo-Chinese tiger: Panthera tigris corbetti)

5. สายพันธุ์เบงกอล (Royal Bengal tiger: Panthera tigris tigris)

6. สายพันธุ์ไซบีเรียน (Siberian tiger หรือ Amur tiger: Panthera tigris altaica)

7. สายพันธุ์เซาท์ไชน่า (South China tiger: Panthera tigris amoyensis)

8. สายพันธุ์สุมาตรา (Sumatran tiger: Panthera tigris sumatrae)


ในปัจจุบัน เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 สายพันธุ์ คือ


1. สายพันธุ์บาหลี (Bali tiger: Panthera tigris balicaเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุด (หนักประมาณ 80-100 กิโลกรัม) มีสีเข้มที่สุด ลักษณะลวดลายเล็กที่สุด เคยมีถิ่นอาศัยอยู่ที่บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย สำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2483และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2493


2. สายพันธุ์ชวา (Javan tiger: Panthera tigris sondaicaเป็นเสือโคร่งขนาดเล็กที่มีสีเข้มและมีลวดลายใกล้เคียงกับสายพันธุ์บาหลี แต่แตกต่างกันตรงที่มีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่กว่า (หนักประมาณ 110-140 กิโลกรัม) เคยมีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะชวา อินโดนีเซีย สำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2515 และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2519


3. สายพันธุ์แคสเปียน (Caspian tiger: Panthera tigris virgataเป็นเสือโคร่งที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสายพันธุ์ไซบีเรียนแต่แตกต่างกันตรงที่มีสีเข้มกว่าและเป็นเสือขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ (หนักประมาณ 140-240 กิโลกรัม) เคยมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี และมองโกเลีย เคยสำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2491 และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2493

 

เสือโคร่ง 5 สายพันธุ์ที่ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่


1. สายพันธุ์อินโด-ไชนีส (Indo-Chinese tiger: Panthera tigris corbettiเป็นเสือโคร่งที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบงกอลมาก แต่สีจะเข้มกว่าเป็นเสือขนาดกลาง (หนักประมาณ 130-200 กิโลกรัม) มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเมืองไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน


2. สายพันธุ์เบงกอล (Royal Bengal tiger: Panthera tigris tigrisเป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ (หนักประมาณ 160-260 กิโลกรัม) ลำตัวมีสีเหลืองปนเทาหรือปนน้ำตาล แต่ละตัวจะมีลายแถบปรากฏบนหลังและด้านข้างของลำตัวต่างกัน ขนใต้ท้อง คางและคอเป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาวและมีแถบสีดำ หางมีแถบสีดำเป็นบั้ง ๆ ตั้งแต่โคนถึงปลาย ปลายหางเป็นสีดำ ลักษณะเด่นคือ หลังหูสีดำและมีจุดขาวนวลใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน มีถิ่นอาศัยอยู่ในอินเดีย มีบางส่วนอาศัยอยู่ในเนปาล บังคลาเทศ ภูฏาน และป่าแถบตะวันตกของพม่า


3. สายพันธุ์ไซบีเรียน (Siberian tiger หรือ Amur tiger: Panthera tigris altaicaเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (หนักประมาณ 170-300 กิโลกรัม) แถบข้างลำตัวจะห่างและกว้างกว่าสีออกโทนน้ำตาลมากกว่าสีดำ ขนตรงบริเวณอกจะมีสีขาว มีขนยาวและหนามาก โดยเฉพาะบริเวณรอบคอ เนื่องจากเป็นเสือที่อาศัยอยู่ในเขตหนาวจึงมีสีที่จางกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นหิมะ มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตะวันออกของรัสเซียแทบทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยที่พบทางตอนเหนือของจีนและทางตอนเหนือของเกาหลีเหนือ


4. สายพันธุ์เซาท์ไชน่า (South China tiger: Panthera tigris amoyensisเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดกลางค่อนข้างเล็ก (หนักประมาณ 120-150กิโลกรัม) ลักษณะพิเศษคือ จะมีแถบลายข้างลำตัวน้อยกว่าเสือสายพันธุ์อื่น ๆ ปัจจุบันเสือโคร่งสายพันธุ์นี้อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด เพราะไม่มีให้เห็นในป่าธรรมชาติแล้ว ส่วนใหญ่จะเหลืออยู่ที่สวนสัตว์ในจีน มีถิ่นอาศัยอยู่ในตอนกลางและตะวันออกของจีน


5. สายพันธุ์สุมาตรา (Sumatran tiger: Panthera tigris sumatrae) เป็นสายพันธุ์เสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุด (หนักประมาณ 90-120 กิโลกรัม) มีสีเข้มมากที่สุดและมีลวดลายแถบสีดำกว้างและชิดกัน บางทีเป็นแถบริ้วลายคู่ แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน มีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ชีววิทยาการกินอาหารของเสือโคร่ง

 

โดยหลักการตามความต้องการพลังงานของสัตว์ โดยเฉพาะเสือโคร่งนั้นต้องการเหยื่อเป็นอาหารมากกว่า 20 กิโลกรัม ความหนาแน่นของเหยื่อมีผลต่อความหนาแน่นของเสือโคร่ง โดยความหนาแน่นของเหยื่อที่มีอยู่สูงจะส่งผลต่อการรองรับประชากรของสัตว์อื่น ๆ ในพื้นที่ไปด้วย นอกจากนี้ อัตราการรอดตายของลูกเสือโคร่งจะสูงขึ้นตามปริมาณเหยื่อของเสือโคร่งที่มีมากขึ้น เหยื่อของเสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดพลวัตรของประชากรเสือโคร่ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง เนื่องจากพื้นฐานการดำรงชีวิตของเสือโคร่งต้องอาศัยอาหาร นั่นคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จากการศึกษาวิจัยในประเทศอินเดียในเรื่องการกินอาหารของเสือโคร่ง เสือโคร่ง 1 ตัว กินเนื้อประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบได้กับกวางดาวประมาณ 50 ตัว ดังนั้นหากจะให้มีผลผลิตประชากรกวางดาว 50 ตัว เพื่อเป็นอาหารเสือโคร่ง 1 ตัว ต้องดำรงประชากรกวางดาวประมาณ 500 ตัว หรืออีกนัยหนึ่งหากต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งก็ต้องเพิ่มประชากรสัตว์กีบด้วยนั่นเอง การขาดวิธีการสำรวจที่ดีทั้งการนับเสือโคร่งโดยตรงและดูจากร่องรอยจะส่งผลอย่างมากกับการสำรวจความหนาแน่นของเหยื่อ ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของเสือโคร่งสูง ก็จะเป็นพื้นที่ตัวอย่างการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน และจะเป็นที่น่าเชื่อถือในการระบุความสัมพันธ์ของความหนาแน่นระหว่างเสือโคร่งกับเหยื่อได้ การประเมินหาประชากรของเสือโคร่งในพื้นที่ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ได้พิจารณาถึงประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งประกอบกันไป เช่นเดียวกับการปกป้องเสือโคร่งจากการล่าและการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยจะไร้ผล หากสัตว์ที่เป็นเหยื่อไม่ได้รับการปกป้องด้วย ความจริงแล้ว ปัญหาหลักที่สำคัญกับเสือโคร่งคือ การล่าเหยื่อของเสือโคร่ง การตระหนักถึงสถานภาพของเสือโคร่ง และป้องกันชนิดเหยื่อของเสือโคร่ง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของเสือโคร่ง


ความสัมพันธ์ระหว่างเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ

จากการศึกษาชนิดอาหารของเสือโคร่ง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพบว่า สัตว์กีบ ได้แก่ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง และหมูป่า เป็นอาหารหลักของเสือโคร่ง โดยจะกินเหยื่อที่มีอายุในช่วงโตเต็มวัยมากกว่า (อัจฉรา, 2543) ซึ่งชนิดอาหารที่ซ้อนทับกับเสือดาวนั้น เสือดาวจะเลือกกินเหยื่อที่อยู่ในช่วงก่อนโตเต็มวัยมากกว่า (ศักดิ์สิทธิ์และอัจฉรา, 2546) โดยปกติแล้วเสือโคร่งมักจะสุ่มล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เสือโคร่งตัวเต็มวัยที่มีประสบการณ์มักจะมีความระมัดระวังในการล่า และโจมตีเหยื่อตัวที่คิดว่าการล่ามีผลทำให้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด (Schaller, 1976)

จากการศึกษาพฤติกรรมในการล่าเหยื่อ พบว่าเสือโคร่งมักจะจับและกัดที่บริเวณต้นคอ ปาก และคอหอย โดยขั้นตอนหลังจากเหยื่อล้มลง เสือโคร่งจะกัดบริเวณคอหอยแล้วงับเหยื่อจนกระทั่งเหยื่อขาดใจตาย การกัดบริเวณลำคอจะช่วยให้เสือปลอดภัยจากเขาและตีนของเหยื่อ (Karanth, 1995) กล่าวว่า เสือโคร่งชอบกัดที่บริเวณต้นคอ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกคอที่ต่อกับกะโหลกทำให้กระดูกแตกร้าว และเส้นประสาทฉีกขาด อย่างไรก็ตาม พวกสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กระทิง กวาง เป็นต้น จากจำนวน 181 ตัวอย่าง พบว่าเสือโคร่งกัดบริเวณลำคอ และมักจะลากเหยื่อที่ฆ่าเพื่อหาสิ่งปกคลุม

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เสือโคร่งกินสัตว์กีบมากที่สุด ประกอบด้วย วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง และหมูป่าตามลำดับ (อัจฉรา, 2543) จากการศึกษาของศักดิ์สิทธิ์และอัจฉรา (2546) พบว่าสัตว์กีบเป็นอาหารหลักทั้งเสือโคร่ง และเสือดาว ในเหยื่อชนิดเดียวกัน เสือโคร่งมักกินเหยื่อที่มีอายุอยู่ในช่วงโตเต็มวัยซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ขณะที่เสือดาวกินเหยื่อที่ตัวเล็กกว่าที่มีอายุในช่วงวัยเด็กหรือก่อนโตเต็มวัย

ใน 1 ปี เสือโคร่ง 1 ตัว จะล่าเหยื่อประมาณ 54 ตัว เพื่อเป็นอาหาร ซึ่งเสือโคร่งกินเหยื่อแต่ละครั้งประมาณ 18-40 กิโลกรัม โดยเริ่มต้นจากบริเวณสะโพก และหากไม่ถูกรบกวนจะใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ในการกินเหยื่อจนหมด Sunquist (1981) ประเมินว่าเสือโคร่งเพศเมียที่ไม่มีลูกจะออกล่าเหยื่อทุก 8-8.5 วัน ที่อุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศอินเดีย ถึงแม้ว่าเสือโคร่งที่มีความเชี่ยวชาญในการล่าจะพบว่าบ่อยครั้งที่ไม่สามารถล่าได้ จากการศึกษาของ Schaller (1967) พบว่าจากการเฝ้าสังเกตในธรรมชาติ จากการล่า 12 ครั้ง เสือโคร่งประสบผลสำเร็จเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น เขาจึงเสนอว่ามีความเป็นไปได้ว่าเสือโคร่งจะประสบผลสำเร็จในการล่า 1 ครั้ง จะต้องออกล่าเหยื่อถึง 20 ครั้ง การร่วมมือในการล่าจะไม่ปรากฏเด่นชัดน่าจะเป็นเสือที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น เป็นแม่ เป็นพี่น้องครอกเดียวกัน ส่วนกรณีเสือกินคนนั้นเกิดจากความไร้สามารถที่จะล่าเหยื่อปกติได้ มักเกิดขึ้นกับเสือที่แก่ หรือเสือที่บาดเจ็บ โอกาสในการเผชิญหน้าการล่าของเสือโคร่ง ที่เป็นการป้องกันตัวและการกินชิ้นส่วนของมนุษย์ นับเป็นตัวชักนำไปสู่การล่ามนุษย์เป็นเหยื่อซึ่งเป็นเรื่องง่าย