อนุรักษ์เสือโคร่ง อนุรักษ์ระบบนิเวศ

การอนุรักษ์เสือโคร่ง หากนำมาตรการมาใช้เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะเป็นการรักษาระบบนิเวศและผืนป่าที่เป็นแหล่งรวมทรัพยากรและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพของเสือโคร่ง อันจะเป็นการรักษาปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ในอีกทางหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ยารักษาโรค อีกทั้งยังเป็นการคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมที่ดีไปด้วยตามลำดับ

ในระบบนิเวศที่ซับซ้อนและหลากหลาย ประกอบไปด้วยความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกันระหว่างสัตว์ป่าแต่ละชนิด แต่บทบาททางด้านนิเวศวิทยาของเสือโคร่งมีความสำคัญที่โดดเด่นในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง นอกจากนี้ปริมาณเหยื่อที่เพียงพอยังช่วยรักษาประชากรเสือโคร่ง ซึ่งปริมาณและชนิดเหยื่อของเสือโคร่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งอยู่รอดได้เช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์นี้จึงกล่าวได้ว่า เสือโคร่งสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน


แสดงแนวโน้มจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2443 - 2548) 

ในอดีตกว่า 100 ปีที่ผ่านมาเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกมีจำนวนประชากรมากกว่า 100,000 ตัว แต่ในปัจจุบันนี้พบว่ามีน้อยกว่า 4,000 ตัว (ซึ่งลดลงมากกว่า 95% ของจำนวนเสือในอดีต) นอกจากจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว ขนาดพื้นที่ การกระจาย หรือถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน จากภาพ (ข้างล่าง) จะเห็นว่าในปี 2537 ได้มีการประเมินพื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง พบว่า ในอดีตเสือโคร่งมีการกระจายครอบครองพื้นที่ถึง 40% แต่ในปัจจุบัน เสือโคร่งมีการกระจายลดลงเหลือเพียง 7% ของพื้นที่การกระจายเดิม

 
เปรียบเทียบการกระจายของเสือโคร่งในอดีตกับปัจจุบัน
(สีครีมแสดงการกระจายของเสือโคร่งในอดีต และสีเขียวแสดงการกระจายของเสือโคร่งในปัจจุบัน)

ปัจจัยคุกคามหลักที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วงนั้น โดยหลักแล้วมีด้วยกัน 3 ปัจจัยคือ การที่เหยื่อของเสือโคร่งถูกล่าโดยมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสือโคร่งโดยตรง เมื่อปริมาณอาหารลดลงจำนวนประชากรเสือโคร่งจึงลดลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เสือโคร่งที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งของประเทศไทยนั้น เนื่องจากเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น วัวแดง กระทิง กวางป่า ถูกมนุษย์ล่าจนหมดไปจากพื้นที่ หรือมีน้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาประชากรเสือโคร่งให้คงอยู่ได้ ปัจจัยคุกคามที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและการเกิดหย่อมป่า เกิดจากมนุษย์ต้องการเปลี่ยน หรือขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตร (เช่น ผืนป่าขนาดใหญ่ถูกบุกรุกจนกลายเป็นหย่อมป่าขนาดเล็ก ๆ เป็นต้น) และปัจจัยคุกคามที่สำคัญอีกประการคือ การที่เสือโคร่งตกเป็นเป้าหมายของการล่าโดยตรงจากความต้องการของตลาด ที่นำหนังเสือโคร่งมาใช้ตกแต่งบ้าน หรือความเชื่อที่ว่าชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งนั้นเป็นตัวยาแผนโบราณของจีน นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีความขัดแย้งระหว่างเสือโคร่งกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการที่เสือโคร่งออกมาล่าสัตว์เลี้ยงในชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ป่า อย่างไรก็ตามปัจจัยคุกคามดังกล่าวในประเทศไทยถือว่ามีน้อยมาก

จะเห็นว่าการที่จะอนุรักษ์เสือโคร่งให้คงอยู่ต่อไปได้นั้น คือการลดปัจจัยคุกคามต่าง ๆ ดังกล่าวลง เพื่อเปิดโอกาสให้เสือโคร่งได้สืบขยายเผ่าพันธุ์ ให้สัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสืออยู่รอดปลอดภัยจากภัยคุกคามของมนุษย์ และเพื่อให้พื้นที่ป่าได้ดำรงอยู่ และฟื้นความอุดมสมบูรณ์ขึ้นตามธรรมชาติ พื้นที่อนุรักษ์เสือโคร่งที่ประสบความสำเร็จและถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างใน โครงการ Tigers Forever คือ อุทยานแห่งชาตินาการาโฮเล (Nagarahole National Park) รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์เสือโคร่งอื่น ๆ ในประเทศอินเดีย วิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จนี้คือ การสร้างความเข้มแข็งของการลาดตระเวนและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นยังผลให้มีการล่าเสือโคร่งและเหยื่อลดลง และยังลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ชุมชนด้วย ซึ่งผลสำเร็จของโครงการในพื้นที่ต้นแบบดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานมากกว่า 30 ปี (พ.ศ. 2513-2548) ประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มมากขึ้นถึง 400%


จากการสร้างความเข้มแข็งของการลาดตระเวนและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดระยะเวลาการทำงานมากกว่า 30 ปี (พ.ศ. 2513 - 2548) ทำให้เสือโคร่งในอุทยานแห่งชาตินาการาโฮเล (Nagarahole National Park) มีประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มมากขึ้นถึง 400% 

ในประเทศไทย กล่าวได้ว่า ผืนป่าตะวันตก เป็นผืนป่าถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเสือโคร่งเนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ถือว่าเป็นบ้านของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่งดังนั้น โครงการ Tigers Forever ในประเทศไทยจึงเริ่มต้น ณ ผืนป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้ จากประสิทธิภาพและทิศทางที่ดีของโครงการ Tigers Forever ในผืนป่าห้วยขาแข้ง จึงนำไปสู่การขยายผลใน โครงการ Tiger Conservation ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อผนึกความเข้มแข็งในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในพื้นที่ใจกลางแห่งผืนป่าตะวันตก เข้าไว้ด้วยกัน

จากที่กล่าวมาข้างต้นทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย จึงดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก โดยมุ่งเน้นพื้นที่มรดกโลกอันเป็นหัวใจของผืนป่าตะวันตกคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยแบ่งเป็น 2 โครงการตามพื้นที่เป้าหมาย คือ โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในผืนป่าห้วยขาแข้ง (Tiger Conservation in Huai Kha Khaeng) และโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (Tiger Conservation in Thungyai Naresuan)

ติดตามการประเมินความหนาแน่นประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร

Stand for Wildlife