การตรวจวัดประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง

ภายใต้โครงการ เสือโคร่งชั่วนิรันดร์ (Tigers Forever) โครงการนี้เกิดจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเพิ่มประชากรเสือโคร่งอีก 50% ในพื้นที่สำคัญๆ ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ภายใน 10 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าเสือโคร่งจะยังคงอยู่คู่ป่าตลอดไป

โครงการขยายระบบการติดตามการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในผืนป่าตะวันตก โดยการดำเนินงานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก และงบประมาณสนับสนุนจากกรมสัตว์ป่า ประเทศสหรัฐอเมริกา (US Fish and Wildlife Service) มีผลมาจากการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จของระบบการติดตาม การอนุรักษ์เสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่งผลให้มีการขยายการดำเนินงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก โดยใช้แนวทาง วิธีการ และระบบการติดตาม ตามแบบอย่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้การปฏิบัติงานอยู่ภายใต้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เดียวกัน

เหยื่อของเสือโคร่ง เป็นตัวชี้วัดพลวัตรของประชากรเสือโคร่ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง เนื่องจากพื้นฐานการดำรงชีวิตของเสือโคร่งต้องอาศัยอาหาร นั่นคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จากการศึกษาวิจัยในประเทศอินเดียในเรื่องการกินอาหารของเสือโคร่ง เสือโคร่ง 1 ตัว กินเนื้อประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบได้กับกวางดาวประมาณ 50 ตัว ดังนั้นหากจะให้มีผลผลิตประชากรกวางดาว 50 ตัว เพื่อเป็นอาหารเสือโคร่ง 1 ตัว ต้องดำรงประชากรกวางดาวประมาณ 500 ตัว หรืออีกนัยหนึ่งหากต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งก็ต้องเพิ่มประชากรสัตว์กีบด้วยนั่นเอง

โครงการสำรวจประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง

ภายใต้โครงการขยายระบบการติดตามการอนุรักษ์เสือโคร่ง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สำรวจสถานภาพประชากรเหยื่อของเสือโคร่งใน 3 พื้นที่ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านเรศวร ด้านตะวันตก ร่วมกับ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจสถานภาพประชากรเหยื่อ 5  ชนิดหลักของเสือโคร่ง  ได้แก่ วัวแดง กระทิง กวางป่า เก้ง และหมูป่า โดยการใช้วิธีสำรวจแบบแปลงสำรวจเป็นรูปสี่เหลี่ยม (Square transect) โดยครอบคลุมพื้นที่ที่เดียวกับพื้นที่ที่ได้มีการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trapping) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งดำเนินงานในปี 2550 – 2551  ผลจากการดำเนินงานอย่างประสบผลสำเร็จในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่งผลให้มีการขยายผลการดำเนินงานต่อนอกพื้นที่ โดยขยายการดำเนินงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออกในปี 2550 และจะดำเนินการต่อไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ในปี 2552 นี้ ได้ใช้แนวทาง วิธีการ และระบบการติดตาม ตามแบบอย่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเพื่อให้เป็นการสำรวจภายใต้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เดียวกัน

วัตถุประสงค์

1. สร้างระบบเพื่อติดตามสถานภาพและแนวโน้มของเสือโคร่งและเหยื่อ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลความสำเร็จของระบบการจัดการ

2. ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ข้างเคียง เนื่องด้วยผลการดำเนินงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้นประสบผลสำเร็จในการประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อจึงทำให้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปในพื้นที่ข้างเคียง

3. เพื่อทราบประชากรเหยื่อในผืนป่าหลังจากอพยพกลุ่มคนออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก

การกำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่อวางเส้นสำรวจ ประเมินจากขอบเขตของพื้นที่การตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 1,034 ตารางกิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก 568 ตารางกิโลเมตร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 527 ตารางกิโลเมตร วางเส้นสำรวจเป็นรูปแบบแปลงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 800×800 เมตร สำหรับช่วงเวลาสร้างเส้นสำรวจ  ต้องอยู่ในช่วงเดียวกับการตั้งกล้องโดยเลือกช่วงเวลาหลังจากเก็บกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งหมดแล้วทั้งพื้นที่ โดยการสุ่มเส้นสำรวจอย่างเป็นระบบจากโปรแกรม Distance 

ภาพตัวอย่างแผนที่การสุ่มตำแหน่งของเส้นสำรวจสี่เหลี่ยมจากพื้นที่ตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งทั้ง 3 พื้นที่คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก

 

ภาพการเล็งมุมออกจากจุดหัวมุมเส้นสำรวจเพื่อเล็งแนวทางเดินให้เป็นเส้นตั้งฉากไปยังอีกหัวมุมเส้นสำรวจอีกมุมหนึ่ง และการตอก Tag และทาสีน้ำมันเพื่อสร้างแนวสำรวจสัตว์ป่า



 

Tag อะลูมิเนียม 2 แบบ สำหรับตอกทำเครื่องหมายบอกระยะทางบนเส้นสำรวจทุก ๆ 100 เมตร



เส้นสำรวจในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้เริ่มดำเนินการสร้างเส้นสำรวจเมื่อปี 2549 และทำการซ่อมแซมทุกปี ในปี 2550 และ 2551 โดยสร้างเส้นสำรวจไปแล้วจำนวนทั้งหมด 46 เส้นสำรวจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ดำเนินการสร้างเส้นสำรวจ เมื่อปี 2550 จำนวน 19 เส้นสำรวจ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ดำเนินการสร้างเส้นสำรวจ เมื่อปี 2552 จำนวน 17 เส้นสำรวจ

แผนที่ตำแหน่งของเส้นสำรวจสี่เหลี่ยมที่วางไว้แล้วทั้ง 3 พื้นที่ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตกและด้านตะวันออก

 


การสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก

หลังจากสร้างเส้นสำรวจเสร็จ ในการสำรวจสัตว์แต่ละเส้นสำรวจจะต้องมีทีมสำรวจ 2 ทีม ทีมละ 2 คน ดังนั้นในแต่ละเส้นสำรวจต้องมีผู้สำรวจจำนวน 4 คน สำหรับสัตว์ที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจได้แก่ เหยื่อของเสือโคร่ง ซึ่งการจำแนกเหยื่อของเสือโคร่งนั้นได้อ้างอิงจากงานวิจัยอาหารเสือโคร่ง ซึ่งศึกษาจากมูลเสือโคร่ง ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ โดยผลการวิจัยพบว่ามีสัตว์หลัก ๆ ที่เสือโคร่งชอบกิน 5 อันดับ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง หมูป่า ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบสัตว์ทั้ง 5 ชนิดนี้ในพื้นที่ ในขณะที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งสองด้านพบเพียง 4 ชนิด ได้แก่ กระทิง กวาง เก้ง หมูป่า โดยข้อมูลจากการสำรวจจะนำมาวิเคราะห์ความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่า

การสำรวจสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งจำเป็นต้องการผู้สำรวจที่มีความรู้เรื่องการจำแนกชนิดสัตว์ป่าเป็นสำคัญ และความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ในการสำรวจ ในที่นี้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจได้แก่ Rangefinder เข็มทิศ และเครื่องกำหนดตำแหน่งพิกัด (GPS) กล้องส่องทางไกล และแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลสัตว์ป่า

การสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความเงียบเพื่อต้องการพบเห็นตัวสัตว์โดยตรง เนื่องจากต้องการประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งจากการพบเห็นตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องแต่งกายให้มีสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นจุดเด่นและเป็นที่สังเกตของสัตว์ป่าด้วย

การฝึกใช้ Rangefinder เข็มทิศ และการบันทึกข้อมูลสัตว์ป่า





ผลการดำเนินงาน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มสร้างเส้นสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งตั้งแต่ปี 2549 และสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2551 โดยมีการสร้างเส้นสำรวจเพิ่มขึ้นทุกปี รวมเป็นจำนวนเส้นสำรวจทั้งหมด 46 เส้น เมื่อนำมาวิเคราะห์หาความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งในภาพรวมจำนวน 5 ชนิด พบว่า ปี 2549 มีความหนาแน่นประมาณ 6 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ปี 2550 มีความหนาแน่นประมาณ 7 ตัวต่อตารางกิโลเมตร และปี 2551 มีความหนาแน่นประมาณ 6 ตัวต่อตารางกิโลเมตร

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก เริ่มสร้างเส้นสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งตั้งแต่ปี 2550 และสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งเป็นเวลา 1 ปี คือปี 2550 จำนวนเส้นสำรวจทั้งหมด 19 เส้น เมื่อนำมาวิเคราะห์หาความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งในภาพรวม 4 ชนิด พบว่า มีความหนาแน่น 8 ตัวต่อตารางกิโลเมตร 

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เริ่มสร้างเส้นสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งตั้งแต่ปี 2552 และสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งเป็นเวลา 1 ปี คือปี 2552 จำนวนเส้นสำรวจทั้งหมด 16 เส้น เมื่อนำมาวิเคราะห์หาความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งในภาพรวม 4 ชนิด พบว่า มีความหนาแน่น 12 ตัวต่อตารางกิโลเมตร 

 

สรุปผลการดำเนินงานการสำรวจประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง พบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีความหนาแน่นของประชากรเหยื่อของเสือโคร่งที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง โดยเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งสองด้าน มีความหนาแน่นค่อนข้างมากเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าผืนกว้างใหญ่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์กีบเหล่านี้ และจากการมีการป้องกันการล่าสัตว์ป่า ด้วยระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบและดูแลพื้นที่อย่างทั่วถึงทำให้สัตว์ป่ายังคงอยู่อาศัยและเพิ่มประชากรต่อไปได้ในอนาคต

เป้าหมายต่อไป

การสำรวจประชากรเหยื่อของเสือโคร่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับงานตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งเพื่อสำรวจความหนาแน่นของประชากรทั้งเสือโคร่งและเหยื่อไปพร้อมกัน และดูแนวโน้มความเป็นไปของประชากรทั้งสองว่ามีทิศทางไปในทางเดียวกันหรือไม่ กล่าวคือหากประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แล้วประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเหมือนกันหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน หากประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มลดลง ต้องกลับมาดูสาเหตุที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลง ว่ามาจากสาเหตุใด โดยประชากรเหยื่อซึ่งเป็นอาหารหลักของเสือโคร่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งมีปริมาณลดลง หากเหยื่อลดลง ดังนั้นเมื่อทราบว่าประชากรทั้งสองมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน จะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

จากที่กล่าวมาข้างต้น ข้อมูลเหยื่อของเสือโคร่งขาดความต่อเนื่องที่จะนำมาอ้างอิงให้กับความผันแปรของประชากรเสือโคร่ง ดังนั้นหากมีโอกาสที่จะศึกษาประชากรเหยื่อควบคู่ไปกับประชากรเสือโคร่งได้จะดีอย่างยิ่ง ในเป้าหมายต่อไปจึงต้องหางบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานการสำรวจประชากรเหยื่อในทุก ๆ พื้นที่ที่ได้มีการตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง เนื่องด้วยงบประมาณที่ต้องใช้ค่อนข้างมากในการดำเนินงานจึงหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยค่อนข้างยาก แต่ในอนาคตจะมีแหล่งทุนที่เข้ามาสนับสนุน และหวังว่าจะได้มีโอกาสศึกษาประชากรเหยื่อควบคู่ไปกับเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก