การอนุรักษ์ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ช้างป่าเอเชีย (Asian Elephant: Elephas maximus) เป็นสัตว์ป่าสำคัญ 1 ใน 5 ชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (Living Landscape Species) ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งที่เหลือประกอบไปด้วย จระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile: Crocodylus siamensis) ค่างแว่นถิ่นใต้ (Spectacled Langur: Trachypithecus obcurus) หมีควาย (Asiatic Black Bear: Ursus thibetanus) และกบทูด (Blyth’s or Giant River Frog: Limnonectes blythii)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานถึงจำนวนช้างป่าในประเทศไทย โดยประมาณ 3,100 - 3,800 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 68 พื้นที่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 30 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง


การกระจายของช้างป่าในประเทศไทย โดยพื้นที่สีแดงคือบริเวณที่มักพบช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่สีเทาคือบริเวณที่ไม่พบช้างป่าในการสำรวจนี้ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

จากข้อมูลการสำรวจการกระจายของช้างป่าในปี พ.ศ. 2546 - 2547 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ทราบว่า ช้างป่ากระจายโดยใช้พื้นที่อยู่เฉพาะครึ่งพื้นที่ทางตอนล่างของอุทยานฯ และจากข้อเท็จจริงที่พบในขณะนั้น คือ ช้างถูกคุกคามด้วยการล่า การรบกวนและสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย จำนวนเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนจำกัด ขาดอุปกรณ์ ขาดระบบการลาดตระเวนที่เป็นมาตรฐาน ช้างป่ายังถูกคุกคามขณะที่ออกไปหากินนอกพื้นที่อุทยานฯ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-elephant Conflict: HEC)




ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมกับอุทยานฯ แก่งกระจาน กำหนดมาตรการอนุรักษ์ช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นโครงการต่าง ๆ ซึ่งนอกจากพัฒนาระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) แล้ว ทางสมาคมฯ ยังได้ติดตามศึกษาและพัฒนามาตรการบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548

ติดตามโครงการอนุรักษ์ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 


โครงการสำรวจติดตามการกระจายและการจัดการเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
Elephant Conservation: Distribution, Crop Raiding Monitoring and Human-Elephant conflict (HEC) Management