ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ผืนป่าขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย: ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดรวมกันประมาณ 6,200 ตร.กม. หรือประมาณ 3.8 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

เสือโคร่งยังมีความหวังในอุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา: ในปี 2561-62 คณะนักวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้วางกล้องดักถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ทั้งผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และได้ภาพเสือโคร่ง เฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา จำนวน ประมาณ 20 ตัว

เสือโคร่งตัวสุดท้ายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่: อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รายงานพบเสือโคร่งโดยกล้องดักถ่ายภาพจำนวน 1 ตัวบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติคลองอีเฒ่า ในปี 2544 ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเสือโคร่งตัวสุดท้าย ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 

จำนวนเสือโคร่งเป้าหมายในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่: หากใช้ข้อมูลขนาดถิ่นอาศัยของเสือโคร่งเพศผู้ และเพศเมียในผืนป่าตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะสามารถรองรับประชากรเสือโคร่ง ได้ถึง 100 ตัว ซึ่งแสดงว่าผืนป่าแห่งนี้ยังมีความหวังต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยิ่ง

ฟื้นฟูสัตว์กีบเพื่อฟื้นฟูเสือโคร่งในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่: ในปี 2561-66 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แก่คณะวนศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยในระยะ 3 ปีแรกเป็นการสำรวจและปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์กีบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน และปางสีดา เป้าหมายคือให้มีการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์กีบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้วัวแดง กระทิง และกวางป่า ในผืนป่านี้ได้รับการฟื้นตัวและส่งผลต่อการฟื้นฟูเสือโคร่งอย่างชัดเจนต่อไป

แนวเชื่อมต่อป่า: ในปี พ.ศ.2562 กรมทางหลวง ได้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อสัตว์ป่า ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน คร่อมทางหลวงหมายเลข 304 เสร็จเรียบร้อย จึงคาดว่าในอนาคตเสือโคร่งจากอุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดา จะได้รับการฟื้นฟูให้มีประชากรมากขึ้น และสามารถใช้แนวเชื่อมต่อสัตว์ป่า ข้ามจากอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อมาตั้งต้นประชากรที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ในอนาค