การประเมินความหนาแน่นประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร

ผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex; WEFCOM) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า มีการกระจายของเสือโคร่งในระดับที่ดี โดยมีการกระจายมากที่สุดในบริเวณใจกลางของพื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการสำรวจการตรวจวัดประชากรเสือโคร่ง นอกจากนี้ผืนป่าตะวันตกยังเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังคงความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งเหยื่อของเสือโคร่ง ดังนั้นการศึกษาการกระจายและความหนาแน่นของเสือโคร่งในพื้นที่ ซึ่งมีส่วนช่วยในการบอกศักยภาพของพื้นที่ที่จะอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ การศึกษาดังกล่าวยังสามารถนำมาวางแผนการจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับโลกต่อไปในอนาคตได้

ดังนั้น สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความหนาแน่นและลักษณะของประชากรเสือโคร่ง รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะประชากรเสือโคร่งแต่ละปีในระยะยาว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  จึงดำเนินการวางระบบตรวจวัดประชากรเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) ซึ่งเป็นกล้องที่มีระบบการทำงานที่ควบคุมด้วยลำแสงอินฟราเรด ซึ่งจะถ่ายภาพเสือโคร่งที่เดินตัดผ่านระบบกล้องโดยอัตโนมัติ แล้วนำภาพถ่ายเสือโคร่งที่ได้มาจำแนกเสือโคร่งเป็นรายตัว ดังนั้น จากแนวทางนี้ได้เกิดเป็นการวางแผนการตั้งกล้องดักภาพถ่ายอย่างเป็นระบบทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ศึกษาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และดำเนินการสำรวจทุกปี ทำให้ทราบถึงความหนาแน่นและสามารถติดตามแนวโน้มของประชากรเสือโคร่งได้


การประเมินความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่ง โดยใช้ข้อมูลการถ่ายภาพเสือโคร่งร่วมกับแนวคิดการประเมินประชากรโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง จับทำเครื่องหมายและจับซ้ำ (Capture-recapture) ในการศึกษานี้ดำเนินการวางแผนการสุ่มตัวอย่างตามแนวทางของ Karanth and Nichols (2002) โดยสำรวจและติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ โดยจุดสำรวจหรือจุดตั้งกล้องถูกกำหนดบนแผนที่ให้กระจายครอบคุลมทั่วพื้นที่ศึกษา ให้แต่ละจุดอยู่ห่างกันประมาณ 3-4 กิโลเมตร แล้วเข้าสำรวจพื้นที่ตามเส้นทางตรวจการณ์ และทางด่านสัตว์ในบริเวณที่กำหนด เพื่อเลือกหาตำแหน่งที่เหมาะสำหรับติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพและมีโอกาสจะถ่ายภาพเสือได้มากที่สุดโดยพิจารณาจากความถี่ของการปรากฏและความใหม่ของร่องรอยเสือโคร่ง เช่น รอยตีน รอยคุ้ย กองมูล และรอยพ่นฉี่ (spray) ในบริเวณนั้น โดยแต่ละจุดสำรวจจะติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติจุดละ 2 ตัวอยู่ตรงข้ามกันและห่างจากเส้นทางเดินสัตว์ 3-5 เมตร ให้เครื่องส่งลำแสงอินฟราเรดสูงจากพื้นดิน 45 เซนติเมตร ในแต่ละจุดใช้เวลาตั้งกล้องทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน และตรวจสอบการทำงานของกล้องทุก ๆ 1-3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วนำมาอัดขยายภาพเพื่อจำแนกชนิดสัตว์ บันทึกข้อมูลตำแหน่ง วันที่ เวลา เพศและอายุของสัตว์ที่สามารถถ่ายภาพได้

ผลการดำเนินงาน 

ในระหว่างปี 2547-2557 ได้ดำเนินการสำรวจประชากรเสือโคร่งโดยใช้เทคนิคการติดตั้งอุปกรณ์กล้องดักถ่ายภาพกระจายครอบคลุมพื้นที่อาศัยที่สำคัญของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร  โดยแต่ละพื้นที่แบ่งออกได้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้สำรวจรวม 9 ครั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก 4 ครั้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก 4 ครั้ง 

ตำแหน่งจุดตั้งอุปกรณ์กล้องดักถ่ายภาพ (จุดสีดำ) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร

 

จากผลการศึกษา ตั้งแต่ปี 2547-2557 สามารถถ่ายภาพและจำแนกตัวเสือโคร่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรสะสมได้ทั้งหมดจำนวน 123 ตัว โดยแบ่งออกเป็นเสือโคร่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 96 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก 13 ตัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก 14 ตัว โดยข้อมูลของเสือโคร่งทุกตัวได้จัดเก็บลงในระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ตัวอย่างภาพถ่ายเสือโคร่งในในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร



จำนวนเสือโคร่งที่ถ่ายภาพได้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ในปี 2550 - 2557

นอกจากนี้ เมื่อนำจำนวนตัวเสือโคร่งที่ได้จากการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติมาประเมินประชากรด้วยวิธี CAPTURE-RECAPTURE ในแต่ละปี พบว่า ความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งในแต่ละพื้นที่มีความผันแปรแตกต่างกัน ดังนี้
ความหนาแน่นของเสือโคร่ง (ตัว/100 ตร.กม.) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ในปี 2550 -2557

 

จากข้อมูลล่าสุดของแต่ละพื้นที่ หากพื้นที่ศึกษาทั้งสามแห่งมีสภาพแวดล้อมเปรียบได้กับพื้นที่ทั้งหมดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ในพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้น่าจะมีจำนวนประชากรเสือโคร่งโตเต็มวัยอาศัยอยู่ได้ประมาณ 100 ตัว นอกจากนี้การดำเนินงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีความต่อเนื่องมากกว่าในทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้สามารถเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนกว่า ซึ่งพบว่า ประชากรเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีแนวโน้มดีขึ้นจากในอดีต แต่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรเสืออยู่ตลอดเวลา เพราะสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งตัวใหม่ได้ในทุก ๆ ปี

http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/cobi.12655/abstract

Stand for Wildlife