ผืนป่าแก่งกระจาน

กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นกลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทิศตะวันตกของกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เชื่อมต่อเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าในเขตตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ของประเทศพม่า พื้นที่ทั้งกลุ่มป่ารวมประมาณ 2,938,910 ไร่ (4,702 ตร.กม.) ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน แต่ทั้งนี้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เลือกดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มป่า


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

KAENG KRACHAN NATIONAL PARK (KKNP)

 

เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 1,821,688 ไร่ (2,915 ตร.กม.) เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี เป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ (Plant Geographical Distribution) มาบรรจบกัน และตั้งอยู่บนรอยต่อของหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ย่อย (Zoogeographical Sub-region) เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ. 2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด

บทบาทของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ร่วมพัฒนางานวิชาการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า พัฒนาระบบสำรวจติดตามประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้ความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และส่งเสริมการจัดการพื้นที่อนุรักษ์บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยกิจกรรมในพื้นที่เริ่มต้นตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่สิ้นสุดและบรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว ได้แก่ โครงการสำรวจสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เพื่อการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Recce Transect Survey) และโครงการประเมินชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (Living Landscape Species) โครงการที่ยังมีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการสำรวจเสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trapping) โครงการอนุรักษ์ช้างป่าและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict) และโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพงานป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ด้วยระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System)


ติดตามรายละเอียดโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ

ในผืนป่าแก่งกระจาน




Smart Patrol System
Human & Elephant Conflicts Mitigation
Crocodile Survey