ความสำคัญของผืนป่าตะวันตก
ป่าตะวันตก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ถึง 11.7 ล้านไร่ (ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร) และนับเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถึง 17 แห่ง ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ในขณะที่ผืนป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทยอยู่กระจัดกระจายเป็นผืนเล็กผืนน้อย บ้างก็มีชาวบ้านแผ้วถางพื้นที่ทำกินอยู่ใจกลางป่า หรือเข้าใช้ประโยชน์เก็บหาของป่ากันจนป่ามีสภาพทรุดโทรม จนหลายแห่งแทบไม่เหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศนั้นเลย แต่ผืนป่าตะวันตกซึ่งยังคงเป็นป่าเขียวขจีเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ รวมถึงสัตว์ป่าที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์จากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (zoogeographical range) สัตว์ป่าที่เป็นตัวแทนของเขตสัตวภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบได้ในผืนป่าตะวันตก ตัวอย่างเช่น นกเงือกคอแดง กระจายมาตั้งแต่อินเดีย (India subregion) และสมเสร็จ ซึ่งกระจายมาตั้งแต่คาบสมุทรมลายู (Sundaic subregion) เป็นต้น ดังนั้น ทั้งขนาดของพื้นที่และตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นจุดรวมของเขตสัตวภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ผืนป่าตะวันตกมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายของชนิดสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากว่า 150 ชนิด นกมากกว่า 490 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า 90 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า 40 ชนิด และปลามากกว่า 108 ชนิด
อย่างไรก็ตาม ความหลากชนิดมิใช่เป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า เพราะชนิดพันธุ์สัตว์ป่าจะยั่งยืนอยู่ได้จะต้องมีปริมาณประชากรที่มั่นคงเช่นกัน
แนวทางการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก
แนวทางในการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกจะต้องมองภาพรวมผืนป่าตะวันตกเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ สืบ นาคะเสถียร ที่เคยปรารภว่า การที่จะรักษาป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งให้ยั่งยืนได้จริง ต้องคิดทั้งระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก จากแนวคิดดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดมาตรการอนุรักษ์ที่ชัดเจน รวมถึงมีระบบตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2546 กลุ่มผู้บริหารและนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดยนายชัชวาลย์ พิศดำขำ ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการผืนป่าตะวันตก (WEFCOM) และนำหลักการจัดการผืนป่าเชิงระบบนิเวศมาใช้บริหารพื้นที่ แนวคิดหลักที่นำมาใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวคือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงระบบนิเวศเพื่อเป็นหลักประกันให้พืชและสัตว์คงอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและกระบวนการตามธรรมชาติของระบบนิเวศให้คงอยู่ตลอดไป เมื่อโครงการผืนป่าตะวันตกสิ้นสุดลง ผลงานที่สามารถนำมาเป็นพื้นฐานของการจัดการในอนาคตประกอบด้วย แผนที่การแพร่กระจายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่และนก ฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของชุมชน ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกใน 6 จังหวัดรอบผืนป่าตะวันตก
WCS กับผืนป่าตะวันตก
ปี 2547 - 2548 หลังจาก ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อดีตผู้จัดการภาคสนามของโครงการผืนป่าตะวันตก ได้มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ดร.อนรรฆได้ศึกษาแนวทางของโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิต (Living Landscape Program) และพบว่าแนวทางดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและน่าจะเป็นความหวังในการนำมาประยุกต์ใช้ภายใต้สภาวะทางชีววิทยาและการพัฒนาการอนุรักษ์ของผืนป่าตะวันตก โดยเห็นว่าจุดแข็งของโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิตคือการเชื่อมโยงระหว่างการจัดการและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายการอนุรักษ์ที่ชัดเจนคือชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (landscape species) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบการตรวจวัดซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งในกระบวนการทั้งหมด ดร.อนรรฆได้เผยแพร่แนวทางดังกล่าวแก่เพื่อนร่วมงานในภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน และพยายามนำแนวทางผืนป่าแห่งชีวิตมาประยุกต์ใช้ในการจัดการ ผืนป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่สำคัญลำดับแรกเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในแง่การจัดการและความพร้อมของทีมงาน ความพยายามในการนำแนวทางผืนป่าแห่งชีวิตมาประยุกต์ใช้นี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก ดร.เอมี่ เวดเดอร์ ผู้อำนวยการโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิต การดำเนินการขั้นแรกคือการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการนำอภิปรายโดย ดร.เอมี่ เวดเดอร์ ดร.ปีเตอร์ ไคลน์ และอีเทียน เดลาแตร์ โดยมีสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิต WCS Asia Program และโครงการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแผนภูมิการจัดการการอนุรักษ์ (Conceptual Model) และกรอบการตรวจวัด (Monitoring Framework) ตามแนวทางของโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิต (The Living Landscape Program - LLP) การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 39 คนจาก 18 หน่วยงานทั้งในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย องค์กรอนุรักษ์ท้องถิ่น WCS Living Landscape Program WCS Asia Program และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินการประชุม โดย ดร.เอมี่ เวดเดอร์ หัวหน้าโปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิตของ WCS ผลจากการคัดเลือกชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (Landscape species) ปรากฏว่า มีสัตว์ป่าที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชนิดพันธุ์แห่งผืนป่าจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง ช้าง นกเงือกคอแดง และนาก จากจำนวนชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวเลือก (Candidate Species) ทั้งสิ้น 31 ชนิด จากนั้นจึงได้ใช้สัตว์ป่าที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณาสร้างแผนภูมิการจัดการอนุรักษ์สำหรับสัตว์แต่ละชนิดรวมทั้งสร้างกรอบการตรวจวัดตามลำดับความสำคัญ หลังจากนั้นได้นำเอาแผนภูมิการจัดการอนุรักษ์ของสัตว์ทั้ง 4 ชนิดมาผนวกรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นแผนภูมิการจัดการอนุรักษ์ของผืนป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร นอกจากนี้ยังได้กำหนดกรอบการตรวจวัดที่มีความสำคัญ ซึ่งในลำดับต่อไปจะได้สนับสนุนให้มีการนำเอาแผนภูมิการจัดการอนุรักษ์ดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงงานอนุรักษ์ของผืนป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
จนถึงขณะนี้มาตรการอนุรักษ์สำคัญที่ได้ดำเนินการอยู่ได้แก่ การวางระบบการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพ ระบบการตรวจวัดประชากรเสือโคร่ง เหยื่อของเสือโคร่ง และนกเงือกคอแดงเพื่อประเมินความหนาแน่นในเบื้องต้นของสัตว์แต่ละชนิดในพื้นที่ตัวอย่างที่มีความสำคัญ ในอนาคต สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการอนุรักษ์ โดยอาศัยแผนภูมิการจัดการอนุรักษ์ และกรอบการตรวจวัดของโครงการผืนป่าแห่งชีวิต โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ (ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นส่วนใหญ่) มหาวิทยาลัย ได้แก่ เกษตรศาสตร์ มหิดล จุฬาลงกรณ์ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกประจำจังหวัด ฯลฯ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนอยู่ในระหว่างการดำเนินมาตรการอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่หรือบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ โดยรอบผืนป่าตะวันตก ซึ่งการทำงานดังกล่าวจะมีการประเมินผลเป็นรายปี และมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แผนภูมิการจัดการอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร
บทบาทของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS)
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการอนุรักษ์พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยมีเป้าหมายดังนี้
1. เพื่อพัฒนางานวิชาการด้านสัตว์ป่า และระบบสำรวจติดตามประชากรสัตว์ป่าของผืนป่ามรดกโลก โดยการส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการอนุรักษ์พื้นที่ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
2. เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ป่าที่เป็นเป้าหมายในการอนุรักษ์ โดยการลดปัจจัยคุกคามต่อสัตว์ป่ารูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
โครงการและกิจกรรมของ WCS ในผืนป่ามรดกโลก
ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้พัฒนาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้โครงการการสร้างระบบการตรวจวัดประชากร เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกประเทศไทย โดยมีกิจกรรมดังนี้
1. การพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) โดยจัดกิจกรรมโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี
2. การวางระบบการตรวจวัดประชากรและความชุกชุมของเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลก โดยการวางระบบการตรวจวัดประชากรเสือโคร่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
3. การประเมินความหนาแน่นประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลก โดยการวางระบบการตรวจวัดประชากรเหยื่อ โดยวิธีการวางเส้นสำรวจ (Line transect method) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
4. โครงการสำรวจร้านอาหารที่จำหน่ายซากสัตว์ป่าหวงห้าม ในพื้นที่โดยรอบ มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย โดยสำรวจเก็บข้อมูล และทำแผนที่การกระจายของร้านค้าอาหารป่า