งานเครือข่ายธรรมชาติศึกษาของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า
(WCS) ประเทศไทย
ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และองค์กรภาคีด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้แก่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศเกษตร (NAEC)/ กลุ่มใบไม้/ กลุ่ม Nature Camp อาสา/
กลุ่มหุ่นไล่กา/กลุ่ม Save Wildlife
of Thailand และกลุ่มกิจกรรมธรรมชาติ
อุทัยธานี (บ้านนกฮูก) จัดทำโครงการ “เพื่อนป่า เพื่อนสัตว์ป่า เพื่อนอาสา
เพื่อนห้วยขาแข้ง” (SMART Wildlife Conservation Volunteer for
HKK) เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์
และสร้างการมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลผืนป่าและสัตว์ป่าให้กับประชาชนและผู้มีใจรักในธรรมชาติ
ป่าไม้ และสัตว์ป่า จากทั่วประเทศไทย
โครงการฯ
ได้เริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครผู้สนใจ เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2558 โดยมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้มีผู้ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2559
นี้ รวมทั้งสิ้น 80 คน
ภายใต้การดำเนินโครงการ
ได้จัดกิจกรรมให้กับกลุ่มอาสาสมัครฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา ได้แก่
1.
กิจกรรมปฐมนิเทศอาสาสมัคร ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ในวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2559 เพื่อให้อาสาสมัครได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยทำความรู้จัก
และได้ร่วมทำความเข้าใจในแนวคิดของโครงการ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม
“กอดห้วยขาแข้ง” ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่จะจัดให้กับกลุ่มอาสาสมัครต่อไป
2.
กิจกรรม“กอดห้วยขาแข้ง” จัดขึ้น ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ในระหว่างวันที่ 5 - 7 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นกิจกรรมที่พาอาสาสมัครลงพื้นที่จริงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เพื่อสัมผัส และเรียนรู้ผืนป่าในด้านคุณค่าความสำคัญและให้รู้จักพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกันปราบปราม
ด้านวิชาการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านความคิดให้กับอาสาสมัครก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการออกแบบกิจกรรมภายใต้โครงการ
ซึ่งจากการเรียนรู้ในครั้งนี้ อาสาสมัครทั้งหลายจะเข้ามีส่วนร่วมว่าจะช่วยในการจัดการพื้นที่และการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ของห้วยขาแข้งได้อย่างไรบ้าง
3.
กิจกรรมการประชุมสรุปผลการเรียนรู้ในพื้นที่จากกิจกรรม “กอดห้วยขาแข้ง” จัดขึ้น ณ
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศเกษตร (NAEC) ระหว่างวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการประชุมลงรายละเอียดในกรอบแผนงาน และจัดทำแผนกิจกรรมจากผู้ประสานงานของกลุ่มอาสาสมัคร
ผลจากการหารือร่วมกันสรุปได้ว่า
กลุ่มอาสาสมัครจะมีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ใน 3 แผนงานคือ
1) การสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์
(Information)
2)
การสนับสนุนและส่งเสริมงานด้านการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติ (Education)
3) การสนับสนุนการจัดการโซนนิ่งพื้นที่ (Zoning) และการจัดการพื้นที่ห้องรับแขกห้วยขาแข้ง
ในบริเวณที่ทำการเขตฯ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้านธรรมชาติ
และสัตว์ป่าให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานในแบบอาสาสมัครภายใต้การดำเนินงานและกำกับดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
4.
กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 20 มีนาคม 2559 เพื่อให้ผู้แทนอาสาสมัคร
ได้มีโอกาสเรียนรู้ในรายละเอียดด้านอื่น ๆ ของพื้นที่
นอกเหนือจากที่ได้ร่วมกิจกรรมไปแล้วในกิจกรรม “กอดห้วยขาแข้ง”
เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกและออกแบบกิจกรรมที่จะดำเนินการในโครงการต่อไป
และกิจกรรมล่าสุดนี้
ในวันอาทิตย์ที่
27 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการฯ และกลุ่มอาสาสมัคร ได้จัดกิจกรรมประชุมวางแผนการดำเนินกิจกรรมระยะที่
1 ขึ้น ณ ห้องประชุมเก้งเผือก อาคารพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ดุสิต โดยมีคณะทำงานโคงการฯ/
อาสาสมัครโครงการ/ และผู้สนใจ เข้าร่วมการประชุม เป็นจำนวนกว่า 30 คน
ในช่วงเช้าของการประชุม เป็นการบอกเล่าเรื่องราวความก้าวหน้าของกิจกรรมในโครงการฯ
ให้กับอาสาสมัครและผู้แทนองค์กรเครือข่ายที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมที่ผ่านมาได้รับทราบผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป
รวมถึงการนำเสนอโดยผู้แทนจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
เรื่อง “แนวทางการจัดทำเส้นทางดูนกในบริเวณสำนักงานเขตฯ ห้วยขาแข้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านการศึกษา
(Education) ที่กลุ่มอาสาสมัครได้วางแผนงานไว้
และในช่วงบ่ายของการประชุม โครงการฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา
สวนสัตว์ดุสิต ได้จัดกิจรรมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าในสวนสัตว์ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับอาสาสมัครที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าให้มากขึ้น
รวมถึงการศึกษาแนวทางและเทคนิคในการจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ
ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต่อไป
"หากเราจะทำงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า
เราก็ควรศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำให้ดีเสียก่อน
เราต้องรู้จักป่าและสัตว์ป่าให้มากขึ้นด้วย"
อาสาสมัครท่านหนึ่งกล่าวไว้
แล้วพบกันใหม่ กับกิจกรรมต่อไป
เร็วๆนี้
ภาพกิจกรรม “กอดห้วยขาแข้ง” ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (5-7 กุมภาพันธ์ 2559)
ภาพกิจกรรมการประชุมสรุปผลการเรียนรู้ในพื้นที่
ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศเกษตร (27-28 กุมภาพันธ์ 2559)
ภาพกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
(ครั้งที่ 1) ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (19-20 มีนาคม 2559)
ภาพกิจกรรมประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินกิจกรรมระยะที่ 1และกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าในสวนสัตว์ ณ สวนสัตว์ดุสิต (27 มีนาคม 2559)
อ่านและดูภาพเพิ่มเติมใน กิจกรรมปฐมนิเทศอาสาสมัคร ณ สวนวชิรเบญจทัศ (24 มกราคม 2559) ได้ที่นี่