ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทยนั้นมีสภาพธรรมชาติและการจัดการปัจจัยคุกคามเพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งการลาดตระเวนเป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันทรัพยากรในพื้นที่ โดยปัจจุบันทางอินโดนีเซียใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART) เช่นเดียวกับในประเทศไทย นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งได้แสดงประสิทธิภาพในการจัดการป้องกันดูแลทรัพยากรในพื้นที่อนุรักษ์ ดังนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียมีความประสงค์ที่จะศึกษาดูงานการจัดการข้อมูลระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งอยู่ในผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex; WEFCOM) ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างในการเสริมประสิทธิภาพและพัฒนาระบบลาดตระเวนในอุทยานแห่งชาติลุยเซอร์ (สุมาตรา) และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ในประเทศอินโดนีเซียต่อไป ซึ่งอุทยานแห่งชาติลุยเซอร์นั้นมีขนาดกว่า 8,000 ตร.กม. และยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญที่ยังคงเหลืออยู่ของเสือโคร่งสุมาตรา แรดสุมาตรา และลิงอุรังอุตังอีกด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย อุทยานแห่งชาติลุยเซอร์ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า อินโดนีเซีย (WCS-IP) รวม 10 คน ได้มาศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 26 พฤศจิกายน 2558 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย โดยดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. การศึกษาดูงาน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (HKK) และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ (KNR)
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ จากอุทยานแห่งชาติลุยเซอร์ และเจ้าหน้าที่ WCS อินโดนีเซีย ฟังการบรรยายเกี่ยวกับประวัติและข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ ขั้นตอนการดำเนินงานของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อย่างการจัดเก็บข้อมูล การทำรายงาน ตลอดจนการนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนงานลาดตระเวนในครั้งถัดไป รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการรับมือปัญหาที่เจอ การจัดการปัจจัยคุกคามต่าง ๆ ในพื้นที่
การบรรยายเกี่ยวกับประวัติและข้อมูลทั่วไปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ฟังการบรรยาย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติลุยเซอร์
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียได้เยี่ยมชม และฟังการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการของ
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เยี่ยมชม และฟังการบรรยายเกี่ยวกับงานศึกษาวิจัยระยะยาวของเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นๆ โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาเกี่ยวกับประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียได้ดมกลิ่นสเปรย์ และพบรอยตีนเสือโคร่งในบริเวณเดียวกัน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การประชุมลาดตระเวนประจำเดือน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ร่วมสังเกตการณ์การประชุมลาดตระเวนประจำเดือน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจากอุทยานแห่งชาติลุยเซอร์ และ WCS อินโดนีเซีย ร่วมเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้ง เป็นระยะเวลา 10 วัน ซึ่งได้ เรียนรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ของงานลาดตระเวนและได้ฝึกใช้แบบฟอร์มการเก็บข้อมูลลาดตระเวน
ฝึกบันทึกข้อมูล ขณะเดินลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้ง
2. การศึกษาดูงาน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก (TYE)
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอินโดนีเซียเดินลาดตระเวนข้ามไปถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเดินสำรวจในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพของสองพื้นที่อนุรักษ์ (HKK กับ TYE) และฟังการบรรยายเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์นี้ รวมถึงการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่อนุรักษ์ เป็นต้น
ฟังการบรรยายเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก รวมถึงการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามต่าง ๆ
3. การสังเกตการณ์การฝึกอบรมเสริมประสิทธิภาพงานลาดตระเวน ณ ศูนย์ฝึกอบรมที่ 2 (เขาใหญ่) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอินโดนีเซียร่วมสังเกตการณ์การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน และมีโอกาสร่วมทบทวนการฝึกใช้แผนที่ เข็มทิศ และเครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS)
เจ้าหน้าที่ร่วมทบทวนการฝึกใช้แผนที่ เข็มทิศ และเครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS)
การศึกษาดูงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า อินโดนีเซีย ตลอด 1 เดือนผ่านไปได้ด้วยดี เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน เพื่อนำไปปรับปรุงงานลาดตระเวนในพื้นที่ตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป