ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2558 สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สนับสนุนวิทยากรสำหรับการฝึกอบรมในหลักสูตรการใช้และการดูแลฐานข้อมูลการลาดตระเวน ณ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง จังหวัดระยอง โดยการฝึกอบรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ โครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครอง หรือ CATSPA: Catalyzing Sustainability of Thailand’s Protected Area System ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยคาดหวังว่าการฝึกอบรมหลักสูตรนี้จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่รับผิดชอบงานลาดตระเวน ทักษะการใช้โปรแกรม ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพใน 8 พื้นที่คุ้มครองของกลุ่มป่าตะวันออกให้เหมาะสมและเป็นรูปแบบเดียวกัน ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในการฝึกอบรมครั้งนี้ให้เพื่อนร่วมงานในพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันออก และทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ โดยในการฝึกอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งหมด 25 คน จาก 8 พื้นที่คุ้มครองของกลุ่มป่าตะวันออก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 และจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาร่วมฝึกอบรมด้วย
ทางเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในด้านเทคนิค และวิธีการการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น การใช้แผนที่ เข็มทิศ และเครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) การใช้โปรแกรมฐานข้อมูลลาดตระเวน SMART (Spatial Monitoring And Reporting Tool) เพื่อการจัดการฐานข้อมูลการลาดตระเวน เป็นต้น โดยเนื้อหาหลักของการฝึกอบรมในครั้งนี้เน้นด้านการจัดการฐานข้อมูลลาดตระเวน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การสร้างพื้นที่อนุรักษ์ การกำหนดค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การกำหนดขอบเขตของพื้นที่ หน่วยพิทักษ์ป่า หน่วยงานและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน โปรเจคชันของแผนที่ แผนที่ฐาน โครงสร้างฐานข้อมูล เป็นต้น
- การกำหนดลักษณะภารกิจของการลาดตระเวน ประเภทของการลาดตระเวนและรูปแบบการเดินทาง การสร้างเส้นลาดตระเวน การนำเข้าข้อมูลลาดตระเวนที่ได้จากเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนสู่โปรแกรม SMART การนำเข้า/ส่งออกข้อมูลลาดตระเวนที่มีอยู่ก่อนแล้ว
- การกำหนดแผนการลาดตระเวน และการข่าว เพื่อประกอบการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การสืบค้นข้อมูลลาดตระเวนในรูปแบบต่างๆ เช่น การสืบค้นแบบจุดข้อมูลสังเกตการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการลาดตระเวน การสืบค้นข้อมูลแบบเส้นลาดตระเวน การสืบค้นแบบตารางสรุป และการสืบค้นแบบกริดความเข้มข้นของข้อมูลลาดตระเวน
- การสร้างรายงานผลการลาดตระเวน
- การจัดการโปรแกรมฐานข้อมูลลาดตระเวนของผู้ดูแลระบบ
ผลจากการอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่สามารถใช้คำสั่งต่าง ๆ ในโปรแกรม SMART ได้อย่างถูกต้อง ทั้งการตั้งค่าต่าง ๆ ของพื้นที่ การกำหนดโครงสร้างฐานข้อมูล การนำเข้าข้อมูลสังเกตการณ์ การลงข้อมูลการลาดตระเวน การสืบค้นข้อมูล และการสร้างรายงานการลาดตระเวน อย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่ยังต้องอาศัยการทบทวนเพิ่มเติม
นาย อยู่ เสนาธรรม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรม
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรียนการใช้ GPS และเสริมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้แผนที่ และเข็มทิศ
อบรมเกี่ยวกับการใช้โปรแกรม SMART เพื่อจัดการฐานข้อมูลลาดตระเวนในพื้นที่คุ้มครอง
พิธีปิดการฝึกอบรมและมอบใบประกาศนียบัตรโดย นาย ทวี หนูทอง ที่ปรึกษาโครงการ CATSPA