อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ร่วมกันดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 เพื่อพัฒนาแผนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถประเมินและติดตามผลการจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกิจกรรมการสำรวจและติดตามการกระจายของประชากรสัตว์ป่าสำคัญในพื้นที่ เช่น เสือโคร่ง ช้าง จระเข้น้ำจืด และสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง รวมถึงพืชอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งโป่งที่สำคัญต่อสัตว์ป่า
ในปี พ.ศ. 2548 มีการสำรวจช้างและปัจจัยคุกคามทั่วทั้งพื้นที่ ทำให้ทราบถึงการกระจายของช้างป่าและผลกระทบจากการที่ช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นที่มาของการศึกษาติดตามผลของความเสียหายและมาตรการในการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบจนถึงปัจจุบัน
การประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าแก่งกระจาน” เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ช้างป่า การจัดการปัญหาที่เกิดจากช้างป่าร่วมกัน และเพื่อติดตามสถานการณ์และความก้าวหน้าของโครงการทุกปี โดยในปีนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางบรรเทาปัญหาอย่างมีส่วนร่วมดังเช่นที่ผ่านมา ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 7 ขึ้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภายในงานมีนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอหัวหิน เป็นประธานใน บนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวแทนจากชุมชนต่าง ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 181 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (เช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขาย และรับจ้าง) 138 คน (76%) และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 43 คน (24%) ซึ่งตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ (103 ราย หรือ 75%) ได้รับผลกระทบจากช้างที่ออกหากินนอกพื้นที่อุทยานฯ เฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละครั้ง
ทั้งนี้ระหว่างประชุมได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ทราบถึงข้อคิดเห็นใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. ผู้เข้าร่วมประชุมมีความพึงพอใจมาตรการในระดับใดจาก 3 มาตรการหลักที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยได้ร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนในปีที่ผ่านมา ได้แก่
1.1 แนวรั้วกึ่งถาวร
1.2 ชุดเฝ้าระวังช้างในเวลากลางคืน
1.3 การตัดสางสองข้างทางเพื่อเพิ่มระยะในการมองเห็น
2. มาตรการใดที่ทางผู้เข้าร่วมประชุมคิดเห็นว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลดีที่สุด
จากการสำรวจพบว่า ทุกฝ่ายนำเสนอความเห็นไปในทางเดียวกันว่าการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าของทางอุทยานฯ เป็นไปในทางที่ดีเป็นประโยชน์มาก ส่วนใหญ่มองว่ามาตรการทั้งสามสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้และเป็นที่พอใจในระดับปานกลางถึงระดับดี (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ผลการสำรวจระดับความพอใจของชุมชนใน 3 มาตรการหลัก
ส่วนมาตรการที่ผู้เข้าร่วมประชุมให้การสนับสนุนและคิดว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด (75 คะแนน) คือ มาตรการแนวรั้วกึ่งถาวร รองลงมาคือ การตัดสางสองข้างทางเพื่อเพิ่มระยะการมองเห็น (46 คะแนน) เพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่เกิดจากช้างป่าที่ออกหากินบริเวณสองข้างทาง (ตารางที่ 2) โดยข้อมูลทั้งหมดนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและตัดสินใจสนับสนุนของทางคณะทำงานเพื่อการแก้ไขและบรรเทาปัญหาช้างออกหากินนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในอนาคตต่อไป
ตารางที่ 2 ผลการสำรวจการประเมินมาตรการโดยผู้เข้าร่วมประชุม
พิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 7 โดย นายอำเภอหัวหิน ประธานในพิธี ณ ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
แบบประชารัฐอย่างยั่งยืนโดยผู้แทนของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
นอกจากนี้ประธานยังได้มีการเปิดป้ายโครงการศึกษามาตรการบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าแก่งกระจาน โดยใช้แนวรั้วกึ่งถาวร (Semi-permanent fence) และผู้เข้าร่วมประชุมร่วมทำกิจกรรมแนวรั้วแบบกึ่งถาวรเพิ่มเติม