โครงการฝึกอบรมเทคนิคการอนุรักษ์เสือโคร่ง เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทางภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมกันจัดการฝึกอบรมฯ ซึ่งปีนี้เป็นรุ่นที่ 10 แล้ว โดยมีนิสิตระดับปริญญาตรี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีความสนใจเข้าร่วมในการฝึกอบรมฯดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้
1) มีความเข้าใจหลักการและการปฏิบัติงาน ภายใต้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ป้องกันและอนุรักษ์เสือโคร่ง สัตว์ป่าขนาดใหญ่ และสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่คุ้มครองหลายแห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
2) มีความเข้าใจการศึกษาพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่ง สัตว์ป่าที่สำคัญ และปัจจัยคุกคาม ด้วยวิธี Patch Occupancy survey ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ประเมินพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่
3) มีความเข้าใจหลักการและวิธีการประเมินประชากรเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera trapping) และประชากรเหยื่อของเสือโคร่งโดยวิธี Distance Sampling
4) เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงานในป่า โดยให้ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและนักวิจัยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
การฝึกอบรมแบ่งเป็นการฝึกภาคสนาม ระหว่างวันที่ 3 - 12 กรกฎาคม 2559 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และการฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 1 - 5 สิงหาคม 2559 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 23 คน เป็นนิสิตปริญญาตรีจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า จำนวน 18 คน ปริญญาโท สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพป่าไม้ 1 คน นิสิตปริญญาตรีสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1 คน และสาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 3 คน
การฝึกภาคสนาม ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นิสิตลงทะเบียน รับเอกสารและอุปกรณ์ในการฝึกอบรมจากทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS)
ประเทศไทย
การบรรยายแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อ และระบบลาดตระเวนในระดับนานาชาติ โดย
ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การบรรยายหลักการ การใช้ และทดสอบการใช้แผนที่ เข็มทิศ และ GPS ในการสำรวจเก็บข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การประเมินการกระจายของสัตว์ป่า และการเก็บข้อมูลเหยื่อของเสือโคร่ง
เรียนวิธีการสำรวจพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งและเหยื่อหลักของเสือโคร่ง โดยการสำรวจวิธี Patch Occupancy Survey ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ประเมินในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ และฝึกทดลองเก็บข้อมูลสำรวจรวมถึงฝึกสำรวจร่องรอย สเปรย์ของเสือโคร่ง ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
เรียนและฝึกการใช้แบบฟอร์มในการเก็บข้อมูลลาดตระเวน ภายใต้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ป้องกันพื้นที่คุ้มครองจากภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า และเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนนำไปสู่การใช้ SMART Application ต่อไป
เรียนการบันทึกข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol Application ด้วย GPS Garmin Monterra ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
นิสิตได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมลาดตระเวนประจำเดือนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมทั้งฟังการบรรยายเกี่ยวกับงานลาดตระเวน โดย นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นิสิตร่วมเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จริงเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน มีการเก็บข้อมูลแบบฟอร์มการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) พร้อมกับการเก็บข้อมูลการครอบครองพื้นที่ของสัตว์ป่า (Patch Occupancy Survey)
เรียนหลักการและวิธีการสำรวจความหนาแน่นเหยื่อของเสือโคร่ง ( กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง และหมูป่า) โดยวิธี Line Transect Survey พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลในภาคสนามเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน
การบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยเสือโคร่ง และวิธีการสำรวจประชากรเสือโคร่ง ด้วยเทคนิคการใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trapping) โดย นายเกริกพล วงศ์ชู ผู้ช่วยนักวิจัย จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
การฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ ประกอบด้วยการเรียน 1) โปรแกรม SMART ซึ่งเป็นโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 2) โปรแกรม DISTANCE เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นและประเมินประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง 3) โปรแกรม Capture-recapture และโปรแกรม SPACECAP เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นและประเมินประชากรของเสือโคร่ง และ 4) โปรแกรม PRESENCE เพื่อวิเคราะห์การครอบครองพื้นที่ของสัตว์ป่า
ชมประมวลภาพการฝึกอบรม ผ่านทาง Facebook: The 10th Training Course on Tiger Conservation Techniques