ผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex; WEFCOM) เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังมีชะนีมือขาว (Lar gibbon) อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยคุกคามที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของชะนีมือขาวในผืนป่านั่นคือ การล่า และการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องด้วยชะนีเป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินตามเรือนยอด (canopy dweller) ซึ่งทาง IUCN ได้จัดชะนีมือขาวอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)
สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการอนุรักษ์ชะนีมือขาว เพื่อพัฒนาระบบการสำรวจประชากรชะนีมือขาวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองที่อยู่ใจกลางในผืนป่าตะวันตก ทั้งนี้ได้มีการจัดการฝึกอบรมแก่ผู้ช่วยนักวิจัย และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำจำนวน 11 คน ระหว่างวันที่ 13 - 18 พฤศจิกายน 2559 ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
โดยมี ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน ผู้เริ่มต้นบุกเบิกทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชะนีในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อาจารย์ ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ นส. มยุรี อำพลจันทร์ จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดเทคนิค Triangulation ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการสำรวจประชากร และประเมินความหนาแน่นของชะนี
ผู้เข้าฝึกอบรมลงทะเบียน และรับเอกสารประกอบการอบรม
ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน และอาจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ บรรยายความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาของชะนีมือขาว วิธีการสำรวจ และการทำ Triangulation เพื่อประเมินความหนาแน่นประชากรชะนีมือขาว
ผู้เข้าฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติการสำรวจวิธี Triangulation เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาฝึกคำนวณหาขนาดประชากร และความหนาแน่นของชะนี ต่อไป