มนุษย์มีระยะตั้งครรภ์เพียง 9 เดือน ในขณะที่สัตว์บางชนิดอย่าง ฉลาม ช้าง หรือแม้แต่แมงป่อง สามารถตั้งท้องได้นานมากกว่าหนึ่งปี
วันแม่นั้นไม่ควรกำหนดเพื่อเป็นการสรรเสริญเพียงแค่แม่ของพวกเรา แต่สมควรเป็นการสรรเสริญแก่เหล่าสัตว์โลกหลาย ๆ ชนิดด้วย นับตั้งแต่ หมึก (octopus) ไปจนถึงช้าง สัตว์หลายประเภท ของพวกมันด้วยความทุ่มเทอย่างมาก แม้กระทั่งก่อนที่จะให้กำเนิดลูกเสียอีก ในขณะที่มนุษย์ตั้งครรภ์เพียง 9 เดือน แต่สัตว์บางชนิดสามารถตั้งท้องได้นานหลายปี
นาย André Ganswindt อาจารย์ด้านระบบต่อมไร้ท่อในสัตว์ป่า จากมหาวิทยาลัยพริทอเรีย (University of Pretoria) ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ กล่าวว่า หลังจากที่คนสามารถหาวิธีคุมกำเนิดได้ คนส่วนใหญ่นั้นคิดว่าการที่ไม่ต้องตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติ “อย่างไรก็ตามสำหรับสัตว์ป่าที่มีอายุขัยยืนยาว การตั้งท้องหรือการให้นมนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ”
และในวันแม่ที่จะถึงนี้ คุณอาจฉลองหรือตอบแทนบุญคุณคุณแม่เนื่องในโอกาสที่ท่านต้องทนทรมานกับอาการแพ้ท้องขณะตั้งครรภ์เรา คอยจัดการกับห้องอันแสนรก หรือต้องมาเป็นคนขับรถรับส่งเราไปโรงเรียน ให้เราลองคิดถึงการสรรเสริญแด่แม่ของสัตว์ทั้งหลายซึ่งลำบากในการปกป้อง และดูแลลูกน้อยของมันอย่างยาวนานเช่นกัน
หมึก (Octopus) จากทะเลลึก
หมึก Graneledone boreopacifica จากทะเลลึกเป็นสัตว์อีกชนิดที่อุทิศตนเพื่อดูแลลูกของมัน โดยในปี 2554 นักวิจัยศึกษาหมึกตัวเมียตัวหนึ่งในบริเวณห่างจากชายฝั่งตอนกลางแคลิฟอร์เนีย ซึ่งปกป้องดูแลไข่เป็นระยะเวลานานถึง 4.5 ปี นับเป็นระยะเวลาการเจริญเติบโตของตัวอ่อนนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ปกติหมึกในน่านน้ำตื้นมักจะปกป้องดูแลไข่อยู่หลายเดือน ซึ่งช่วงที่ดูแลไข่นั้นหมึกจะไม่กินอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น และจะตายเมื่อลูก ๆ ออกจากไข่
โดยหมึกที่ถูกศึกษาตัวนี้ไม่ได้กินอาหารใด ๆ แม้ว่านักวิจัยจะพยายามให้ปูเป็นอาหารด้วยหุ่นยนต์ก็ตาม แต่พวกเขาไม่พบว่ามีเศษซากปูตัวในบริเวณใกล้เคียง จึงคาดว่าแม่หมึกตัวนี้คงกินผู้ล่าที่พยายามเข้ามาขโมยไข่ของมันเป็นอาหาร
ฉลามครุย (Frilled Shark)
ลองจินตนาการหากต้องตั้งท้องนานถึง 3.5 ปี นี่คือภาระที่ฉลามครุยเพศเมียต้องแบกรับเอาไว้ โดยการประมาณนี้มาจากการสังเกตในห้องทดลอง และได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Japanese Journal of Ichthyology
ฉลามครุยเป็นฉลามหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่ไม่ออกลูกเป็นไข่ โดยที่พวกมันจะออกลูกเป็นตัว โดยตกลูกคราวละ 2-10 ตัวต่อครอก
อัลไพน์ ซาลาแมนเดอร์ (Alpine Salamander)
ซาลาแมนเดอร์ชนิดนี้พบในบริเวณเทือกเขาแอลป์ จากตะวันออกไปจนตะวันตกของยุโรป สัตว์ชนิดนี้มักจะหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินหรือท่อนไม้บริเวณทุ่งหญ้า และป่าอัลไพน์ ซึ่งไม่ผิดแปลกอะไรจากเพื่อนร่วมสายพันธุ์ตัวอื่น ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อัลไพน์ ซาลาแมนเดอร์นั้นแตกต่างจากซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่น ๆ คือการที่มันออกลูกเป็นตัวและมีระยะเวลาตั้งท้องนานถึง 2-4 ปี ในขณะที่ซาลาแมนเดอร์ส่วนใหญ่นั้นออกลูกเป็นไข่
ช้างแอฟริกัน (African Elephant)
ช้างแอฟริกันเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นสัตว์ที่เป็นที่ทราบกันว่ามันทำหน้าที่ของแม่ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนลูกน้อยจะเกิดเสียอีก “ซึ่งในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ช้างแอฟริกันเป็นสัตว์ที่ตั้งท้องเป็นระยะเวลานานที่สุด โดยมีระยะเวลาตั้งท้องนานถึง 22 เดือน” นาย André กล่าว
ช้างแอฟริกันเพศเมียมีวงรอบการเป็นสัด (Estrous Cycle) ที่นานอย่างน่าทึ่ง โดยในมนุษย์ใช้เวลาประมาณ 28 วัน “แต่ในช้างแอฟริกันวงรอบการเป็นสัดนานประมาณ 15 ถึง 16 สัปดาห์” นาย André กล่าว
วาฬเพชฌฆาต (Killer Whale)
วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีตัวเมียเป็นผู้นำ โดยในกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 2-15 ตัว และเคยพบกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกมากถึง 40 ตัว
วาฬเพชฌฆาตตั้งท้องนานประมาณ 15-18 เดือน และเมื่อมีสมาชิกใหม่ได้ออกมาลืมตาดูโลก สมาชิกในฝูงต่างล้วนช่วยแม่วาฬเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะเป็น พี่สาว ป้า ส่วนแม่วาฬจะคอยให้การดูแลอยู่เสมอ วาฬเพชฌฆาตไม่ได้สืบพันธุ์เป็นฤดูกาล ดังนั้นจึงสามารถมีลูกได้ตลอดปี
ยีราฟ (Giraffe)
“ยีราฟ เป็นสัตว์ที่ขายาวเก้งก้างสะดุดตา แต่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพวกมันน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ ของแอฟริกา” นาย André กล่าว
ยีราฟ ตั้งท้องนานประมาณ 15 เดือน และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในไม่กี่ชนิดที่สามารถตั้งท้องได้อีกแม้ขณะกำลังเลี้ยงลูกครอกแรกก็ตาม ”ช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของยีราฟตัวเมียเต็มวัยคือ การตั้งท้อง หรือการเลี้ยงลูก หรือการตั้งท้องซ้ำอีกครั้ง” นาย André กล่าวต่อ
แมงป่อง (Scorpion)
แมงป่องจัดอยู่ในกลุ่ม arachnid (จำพวกแมงมุม) แต่แมงป่องแตกต่างจากสัตว์ต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ คือ มันออกลูกเป็นตัว และมีระยะเวลาการตั้งท้องแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด
แมงป่องจักรพรรดิ (Emperor scorpion) จะใช้ชีวิตกับครอบครัวนานกว่า 7-9 เดือนก่อนที่จะให้กำเนิดลูก ในขณะที่มีรายงานว่าแมงป่องสายพันธุ์แอฟริกัน Opisthacanthus asper มีระยะเวลาการตั้งท้องนานถึง 18 เดือน
และแม้ลูก ๆ ของแมงป่องเกิดออกมาแล้ว แต่หน้าที่ของแม่ก็ยังไม่จบ เพราะลูก ๆ จะขึ้นไปเกาะอยู่บนหลังของแม่จนกว่าจะโตเลยทีเดียว
จากบทความ: “These Long-Suffering Animal Mothers Deserve a Day Too” โดย Jane J. Lee, National Geographic ข่าวเมื่อ 7 พฤษภาคม 2558
Link: http://news.nationalgeographic.com/2015/05/150507-mothers-day-animals-long-pregnancy-octopus-elephant-science/
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย