ความพยายามของนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการปกป้องเสือโคร่งในธรรมชาติ เริ่มสัมฤทธิ์ผลแล้ว หากแต่ระยะเวลาที่คาดการณ์สำหรับการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอาจไม่เร็วอย่างที่คิด
ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้เริ่มใช้ระบบลาดตระเวนเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีประชากรเสือขนาดใหญ่ที่สุด
ตลอดระยะเวลา 8 ปีซึ่งทางนักวิจัยของกรมอุทยานฯ ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งอย่างเข้มข้น โดยใช้วิธีการ photographic capture-recapture (การนำภาพเสือที่ถ่ายโดยกล้องดักถ่ายภาพ นำลายข้างลำตัวเสือมาระบุแต่ละตัวแล้วเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบในแต่ละปี)
นักวิจัยเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้การฟื้นฟูของประชากรเสือโคร่งเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้นั้นเกิดจากปัญหาการล่าและประชากรเหยื่อที่ฟื้นฟูช้า
เมื่อ พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายและเริ่มใช้ระบบลาดตระเวนเพื่อการปกป้องประชากรเสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีประชากรเสือขนาดใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ และมีปัจจัยคุกคามหลักคือ การล่าสัตว์
โดยนักวิจัยของกรมอุทยานฯ ร่วมกับ WCS ประเทศไทย ได้สำรวจติดตามประชากรเสือโคร่ง (Panthera tigris) ในห้วยขาแข้งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เหล่านักวิจัยยังได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสาร Conservation Biology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รายงานถึงการที่รัฐบาลได้แสดงออกถึงความพยายามเป็นอย่างยิ่งเพื่อปกป้องประชากรเสือโคร่ง ซึ่งความพยายามนั้นเริ่มเห็นผลแล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือที่แต่เดิมนั้นมีเหลืออยู่น้อยนั้นยังต้องใช้เวลามากกว่าที่ประมาณการไว้
Dr. Ullas Karanth จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศอินเดีย หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว “เสือโคร่งนั้นมีอัตราการขยายพันธุ์สูง จึงคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรน่าจะฟื้นฟูเร็วกว่านี้ อย่างไรก็ตามตอนนี้เราเชื่อว่าสาเหตุที่ประชากรเสือฟื้นตัวช้านั้นเป็นเพราะปัญหาการที่เหยื่อของมันถูกล่าโดยมนุษย์และประชากรเหยื่อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นฟูช้า ดังนั้นการตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนเสือสองเท่าภายในระยะเวลาสิบปี อาจเป็นเป้าหมายที่คาดหวังไว้สูงเกินไป”
(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
Dr. Ullas กล่าวต่อ “การที่ประชากรเสือฟื้นตัวช้ามีโอกาสเป็นไปได้ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่แค่ประเทศอินเดีย”
จากข้อมูลในอดีตที่ Dr. Ullas และทีมได้บันทึกไว้ ระบุว่า หากต้องการให้ประชากรเหยื่อเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เหมาะสมในธรรมชาตินั้น จะต้องใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี
จากบันทึกของนักวิจัยไทย ระบุว่าตั้งแต่อดีตจนถึง พ.ศ. 2548 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีปัญหาเรื่องการล่าสัตว์อย่างมาก ส่งผลให้มีจำนวนเสือต่ำกว่าจำนวนเสือที่ประเทศอินเดียประมาณ 82-90 %
ดังนั้นการลาดตระเวนที่เข้มข้นซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 มีผลให้ปัญหาการล่าสัตว์ลดลง และส่งผลให้เสือมีอัตราการเกิด และการอยู่รอดสูงขึ้นเช่นกัน
ตั้งแต่พ.ศ. 2549 ถึงพ.ศ. 2555 ทีมนักวิจัยได้ตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) จำนวนกว่า 200 ตัวทั่วพื้นที่ห้วยขาแข้ง คิดเป็นจำนวนวันที่ตั้งกล้องประมาณ 21,359 วัน และสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งได้จำนวน 90 ตัว และวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธี capture-recapture ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย Dr. Ullas และทีมตั้งแต่พ.ศ. 2533 เป็นต้นมาในประเทศอินเดีย ในระยะแรกเทคนิคนี้สามารถคำนวณประชากรได้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น ต่อมาในพ.ศ. 2549 Dr. Ullas และทีมได้พัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ที่สามารถคำนวณประชากรจากการสำรวจต่อเนื่องหลายปีได้ โดยเรียกวิธีนี้ว่า “open capture-recapture”
การติดตามประชากรเสือโคร่งในห้วยขาแข้งนั้นดำเนินการมานาน โดยความหนาแน่นเสือโคร่งในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1.25 - 2.01 ตัวต่อ 100 ตร.กม. และมีความชุกชุมประมาณ 35 - 58 ตัว ส่วนอัตราการอยู่รอดของเสือในห้วยขาแข้งประมาณ 79.6 - 95.5 % ในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ กลับมีเสือเพิ่มประมาณ 0 ถึง 25 ตัวในแต่ละปี
Dr. Ullas และทีม กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้แสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่าประชากรเสือโคร่งในห้วยขาแข้งเพิ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2549 - 2555 แต่แสดงให้เห็นว่าความแม่นยำของเทคนิคการวิเคราะห์และการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งในระยะยาวนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ดังเห็นได้จากผลลัพธ์ของเรา
จากการที่ประชากรเสือโคร่งในห้วยขาแข้งมีการฟื้นฟูช้า นักวิจัยจึงคาดว่าการตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนเสือสองเท่าภายในระยะเวลาสิบปี (ตั้งเป้าโดย Global Tiger Initiative ในปีพ.ศ. 2556) นั้นไม่น่าเป็นไปได้
“การบริหารจัดการที่ตรงจุดและการเพิ่มการป้องกัน ได้มีส่วนช่วยให้สัตว์ตระกูลแมวบางชนิดฟื้นฟูจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลกระทบเชิงลบได้รับการควบคุม ในทางตรงกันข้าม ผลการวิจัยของเราบ่งชี้ว่า การฟื้นฟูประชากรเสือท่ามกลางปัจจัยคุกคามจากการล่าสัตว์อย่างหนักหน่วงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ช้ากว่าและมีความไม่แน่นอน ดังตัวอย่างในเขตฯ ห้วยขาแข้ง”
(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
เอกสารอ้างอิง: Duangchantrasiri, S., Umponjan, M., Simcharoen, S., Pattanavibool, A., Chaiwattana, S., Maneerat, S., Kumar, N. S., Jathanna, D., Srivathsa, A., & Karanth, K. U. (2016). Dynamics of a low-density tiger population in Southeast Asia in the context of improved law enforcement. Conservation Biology. doi: 10.1111/cobi.12655
จากบทความ: “Thailand’s efforts to protect wild tigers starting to pay off, but recovery slower than expected” โดย Mike Gaworecki เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2559
Link: http://news.mongabay.com/2016/02/thailands-efforts-to-protect-tigers-starting-to-pay-off-but-recovery-slower-than-expected/
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
อ่านผลงานตีพิมพ์ได้ที่: http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/cobi.12655/full