นับเป็นการค้นพบเสือโคร่งอินโดจีน (Indochinese tiger หรือ Panthera tigris corbetti) ตัวแรกในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ โดยการตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trapping) ของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยในเดือนมกราคมถ่ายภาพเสือเพศเมียได้ 1 ตัว และหลายเดือนต่อมาก็สามารถถ่ายภาพเสือโคร่งเพศผู้ได้อีก 1 ตัวภายในอุทยานฯ
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่เพียง 59 ตร กม จึงเป็นพื้นที่คุ้มครองแห่งหนึ่งที่มีขนาดเล็กที่สุดในภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex: WEFCOM) โดย WEFCOM คือผืนป่าซึ่งมีอาณาเขตปกคลุมพื้นที่กว่า 18,000 ตร กม หรือเทียบเท่ากับขนาดของประเทศฟิจิ ซึ่งผืนป่าตะวันตกถือเป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใน WEFCOM นั้นประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง
ภาพถ่ายเสือโคร่งที่ได้จากอุทยานฯนี้ อาจเป็นสัญญาณบอกถึงการเพิ่มการกระจายตัวของเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก โดยคุณกิตติวรา ศิริภัทรนุกุล หัวหน้าโครงการวิจัยเสือโคร่งของ ZSL ในประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่มีหลักฐานการค้นพบเสือโคร่งในบริเวณผืนป่าตะวันตก ซึ่งในอดีตนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ แต่ตอนนี้มีภาพถ่ายยืนยันการปรากฏของเสือโคร่งแล้ว พวกเราหวังว่าพื้นที่นี้จะได้เป็นอาณาเขตใหม่ของเสือโคร่ง”
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ได้ประเมินจำนวนเสือโคร่งอินโดจีนจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยน่าจะยังมีเสือเหลืออยู่ประมาณ 202-352 ตัว และเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุด ประมาณ 185-200 ตัว โดยเสือโคร่งอาศัยอยู่ทางตอนบนของ WEFCOM มานานแล้ว และมีประชากรมากกว่า 150 ตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่จากรายงานนี้ถือเป็นรายงานการพบเสือครั้งแรกจากทางตอนใต้ของ WEFCOM และทางผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นว่าสักวันผืนป่าตะวันตกแห่งนี้จะมีประชากรเสือโคร่งสูงถึง 2,000 ตัว
จากข้อมูลของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) รายงานว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 150 ชนิด นก 490 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 90 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 40 ชนิด และปลา 108 ชนิด พบอยู่ในผืนป่าตะวันตก
เนื่องจากเสือโคร่งในธรรมชาติเหลืออยู่เพียง 2,500 ตัว จึงถูกจัดให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) โดย IUCN ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ การล่าเพื่อเอาอวัยวะมาทำยาตามความเชื่อ ความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ และการลดลงของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ดังนั้นทางรัฐบาล และ NGOs ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งโดยในหลายๆกองทุนนั้นมีขนาดใหญ่
จากบทความ: “Tigers expanding? Conservationists discover big cats in Thai park” โดย Jeremy Hance ข่าวเมื่อ 4 มิถุนายน 2558
Link: http://news.mongabay.com/2015/0604-hance-tigers-chaloem-ratankaosin.html
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย