อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยที่หลาย ๆ คนมองข้าม หลายคนมีความสงสัยว่าทับลานมีความเป็นอุทยานแห่งชาติตรงไหน ไปทับลานแล้วไปเที่ยวที่ไหน ฯลฯ จริงอยู่ว่าอุทยานแห่งชาติทับลานอาจเป็นรองพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละมาก ๆ สถานที่สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมอาจจะไม่ได้ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ความสำคัญของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้นมีมากกว่าเพียงแค่การรองรับนักท่องเที่ยวหรือการทำรายได้ให้กับประเทศเท่านั้น
คุณค่าของผืนป่าใจกลางพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้คือ การเป็นแหล่งทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้คนจำนวนมาก มีลำห้วยสายหลักที่หล่อเลี้ยงประชาชนหลายอำเภอที่อาศัยอยู่โดยรอบและแม้กระทั่งในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร เช่น ลำมูล (มูน) อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ บรรจบกับแม่น้ำชีที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอพิบูลมังสาหาร ไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 726 กิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงเฉลี่ยประมาณ 26,655 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี (แหล่งข้อมูล https://th.wikipedia.org/wiki/แม่น้ำมูล) เอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคการเกษตร และการอุปโภคบริโภคอย่างมาก และยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารอีกจำนวนมาก เช่น ลำแชะ ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ลำพิโรธที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ห้วยยาง และห้วยคำภู ไหลลงสู่เขื่อนห้วยโสมง อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี อันจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงคนที่อาศัยอยู่ชายขอบป่าทับลานเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติทับลาน หัวใจดวงเล็ก ๆ ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่แห่งนี้ได้หล่อเลี้ยงผู้คนในภาคอีสานตอนใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก นับเป็นผืนป่าที่ให้กำเนิดสายน้ำแห่งชีวิตโดยแท้จริง
เพียงแค่มิติในด้านน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อการอุปโภค บริโภค ก็คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่จะให้เราได้ตระหนักว่า เราต่างมีส่วนได้ประโยชน์ร่วมกันจากอุทยานแห่งชาติทับลาน และถือเป็นหุ้นส่วนโดยกำเนิดที่จะต้องกินต้องใช้ และก็ช่วยกันดูแลรักษา เพราะหากหัวใจดวงนี้อ่อนแรงลงเมื่อใด อันหมายถึงสิ่งที่เราต่างมีกินมีใช้ร่วมกันนี้หมดไปหรือมีน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถสนองให้เพียงพอต่อทุกคนได้อย่างเหลือเฟืออีกต่อไป เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็นับได้ว่าเราต่างก็อยู่ในภาวะ “ขาดทุน” และก็ได้รับความเดือดร้อนร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกัน
ลำแชะ ลำห้วยในอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
หลายคนก็คงจะมีคำถามตามมาอีกว่า คนธรรมดาคนนึงจะมีส่วนช่วยทับลานรวมทั้งทรัพยากรป่าไม้โดยรวมของประเทศเราให้คงอยู่ได้อย่างไรในขณะที่ตัวเขาเองอาศัยอยู่ในป่าคอนกรีตห่างไกลจากภูเขาที่จะพบเจอได้ก็ต้องเป็นเวลาเดินทางไกลไปต่างจังหวัดหรือนาน ๆ จะผ่านไปโดยบังเอิญเท่านั้น
ผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน
ไม่ใช่เรื่องยากเลย สำหรับการรักษาต้นทุนครั้งบรรพกาลที่เราต่างเป็นหุ้นส่วนร่วมกันนี้ ง่าย ๆ สั้น ๆ สามคำ ประโยชน์ ประหยัด ฉลาด ซึ่งถ้าจะขยายความขึ้นให้มากหน่อยก็พอจะกล่าวได้ว่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ทิ้งไปเสีย หากยังใช้ได้อยู่ ใช้อย่างประหยัด ไม่ใช้เกินความจำเป็น แล้วก็ใช้อย่างชาญฉลาดไม่ผิดที่ ผิดเวลา ผิดสถานการณ์ โดยไม่ต้องกังวลว่าคำว่า “ใช้” ในที่นี้หมายถึงใช้อะไรบ้าง โดยให้คำนึงแต่เพียงว่าทุกสิ่งที่เราใช้นั้นล้วนแต่บั่นทอนทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะใช้เงิน ใช้น้ำมัน ใช้น้ำ กินข้าวปลาอาหาร ฯลฯ ถ้าตั้งอยู่บนหลักสามประการ ประโยชน์ ประหยัด ฉลาด แล้วก็นับได้ว่าเราได้ช่วยกันรักษาต้นทุนที่มีคนทั้งประเทศเป็นหุ้นส่วนแล้ว...
ติดตามเรื่องราว Note from the Field ทั้งหมดได้ที่นี่
http://thailand.wcs.org/th-th/About-Us/Note-from-the-Field.aspx