ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 ได้รับภาระกิจหลักเพื่อทำงานโครงการสำรวจประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก การทำงานก็เป็นไปอย่างราบรื่นดีเพราะเป็นช่วงฤดูหนาวเส้นทางแห้งไม่เปียก ไม่มีน้ำขังเหมือนกับหน้าฝนทำให้ไม่ลำบากและสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้ง่าย อย่างที่ทราบกันดีว่าพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ถ้าอยากพบเห็นสัตว์ป่าก็ไม่ยากเกินไปนัก และในเดือนนี้เองเป็นเดือนที่ต้องเดินสำรวจเหยื่อของเสือโคร่งตามเส้นสำรวจที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้แล้ว การเดินสำรวจสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่รักและชอบมากที่สุดเพราะเราจะได้เห็นตัวสัตว์ป่าโดยตรงอยู่รอบตัวเรา มันทำให้หัวใจเราพองโต มหัศจรรย์ใจ ตื่นเต้น และได้เรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติที่แท้จริง และเหตุผลนั่นเองที่เราได้พบกับสัตว์ป่าอีกชนิดหนึ่งถึงแม้ไม่ใช่เหยื่อของเสือโคร่งโดยตรงแต่มันทำให้เราต้องหยุดนิ่งเฝ้ารอดูพฤติกรรมของพวกมันอย่างมีความสุข นั่นก็คือ นกเงือกสีน้ำตาล
นกเงือกสีน้ำตาล ชื่อสามัญคือ Brown hornbill และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Anorrhinus tickelli เป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศอินเดีย พม่า และภาคตะวันตกของไทย โดยนกเงือกสีน้ำตาลได้ถูกจัดเป็นชนิดย่อยอีกชนิดคือ นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว ชื่อสามัญคือ Brown hornbill และชื่อวิทยาศาสตร์ Anorrhinus austeni เป็นนกเงือกที่พบในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียและภาคใต้ของจีนลงไปทางใต้จนถึงตอนใต้ของเวียดนามและภาคเหนือของไทย
สังคมครอบครัวของนกเงือกสีน้ำตาลเป็นครอบครัวใหญ่จากภาพที่เห็นเป็นภาพเก่าที่อยากนำมาเล่าใหม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ได้มองเห็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเครือญาติ ซึ่งแม้จะกเป็นสัตว์แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งไม่น้อยไปกว่ามนุษย์เลย เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ในราวเดือนธันวาคม เหล่านกเงือกทุกชนิดก็จะหาคู่ครอง ซึ่งโดยธรรมชาตินกเงือกเป็นนกที่ใช้ชีวิตผัวเดียวเมียเดียว มีคู่ครองคู่เดิมเมื่อพร้อมใจสร้างครอบครัวก็จะหาโพรงรังเพื่อเป็นบ้านให้ตัวเมียได้เข้าไปออกลูกและเลี้ยงดูลูกจนกว่าจะโตและพร้อมบินออกจากโพรงรัง ระหว่างแม่และลูกอยู่ในโพรงรังผู้เป็นพ่อก็จะทำหน้าที่คอยหาอาหารมาป้อนไม่ว่าจะเป็นลูกไม้และสัตว์ขนาดเล็ก จากการนั่งสังเกตพฤติกรรมการป้อนอาหารของนกเงือกหลายชนิดมีเพียงผู้เป็นพ่อนกตัวเดียวเท่านั้นที่เข้ามาป้อนอาหาร แต่นกเงือกสีน้ำตาลมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปคือ จะมีเครือญาติซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นญาติทางฝ่ายไหน เข้ามาช่วยป้อนให้กับแม่และลูกนก ต่างช่วยกันสลับกันป้อนอยู่หน้าโพรงรัง นอกจากพบเห็นตัวนกเงือกสีน้ำตาลหน้าโพรงรังแล้ว รอบ ๆ ต้นโพรงรังยังมีนกเงือกสีน้ำตาลตัวอื่น ๆ อีกหลายตัวบินวนและเกาะกิ่งไม้ต้นข้าง ๆ ส่งเสียงร้องรับกันเต็มไปหมด บางทีก็บินเข้ามาสลับกับตัวหน้าโพรงรังเพื่อเข้ามาป้อนแทน นั่งเฝ้าต่อไปจนป้อนอาหารเสร็จ นกทุกตัวก็บินออกไปจากต้นโพรงรังทั้งหมด
การได้เห็นพฤติกรรมของนกเงือกสีน้ำตาลในลักษณะแบบนี้ทำให้เราย้อนกลับไปนึกถึงตัวเรา แอบคิดอิจฉานกเงือกที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันภายในครอบครัวและทำกิจกรรมร่วมกันได้ตลอดเวลา และมองเห็นถึงความช่วยเหลือเกื้อกูลของเครือญาติไม่เคยทิ้งกัน หากเรามองย้อนสังคมในปัจจุบันเราห่างไกลมากกับสิ่งเหล่านี้ อาจจะด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ละคนแต่ละครอบครัวก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือไม่ลืมที่จะระลึกถึงความเป็นครอบครัว ไม่ลืมบุคคลในครอบครัวของเราและหมั่นดูแลซึ่งกันและกันจวบจนชีวิตจะจากกันไป
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่: Note from the Field