เรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านเกมเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินงานด้านเครือข่ายธรรมชาติศึกษา (Nature Education Network) ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ และข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติป่าไม้ และสัตว์ป่า นำไปสู่กลุ่มคนทั่วไปโดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน ตามหลักการและกระบวนการของเกมเรียนรู้ธรรมชาติด้วยรูปแบบและวิธีการบนพื้นฐานของวิชาการ มาออกแบบ “เกมและกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า” (Nature Game for Wildlife Conservation) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อทัศนคติเชิงบวกต่อธรรมชาติและสัตว์ป่า อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการป้องกัน ดูแล และอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า




“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของการดำเนินงานด้วยความโดดเด่นในคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่ง และช้างป่า ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ขึ้น และได้พัฒนาไปสู่การดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า และโครงการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบให้กับโรงเรียน และชุมชนโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างต่อเนื่อง


 

ผืนป่าธรรมชาติมีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้เรียนรู้และค้นหามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายทางพันธุ์พืช และชนิดพันธุ์สัตว์ รูปแบบของการเรียนรู้ธรรมชาติ พืชพรรณ และสัตว์ป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ก็มีมากมายหลายรูปแบบ หลายวิธีการที่จะช่วยทำให้เด็ก ๆ และผู้สนใจในธรรมชาติได้เรียนรู้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เครื่องมืออะไรที่จะทำให้เด็ก ๆ หรือผู้สนใจในธรรมชาติทั้งหลาย ได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมชาติด้วยตนเอง ผ่านการสัมผัสตรง และมีประสบการณ์ตรงร่วมกับธรรมชาติ ท่ามกลางธรรมชาติ เกิดความสนุกสนานในระหว่างการเรียนรู้ ได้รับความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดทัศนคติที่ดีกับธรรมชาติ พืชพรรณ และสัตว์ป่า มีความรัก ความหวงแหน และเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะดูแล กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกป้อง อนุรักษ์ธรรมชาติ พืชพรรณ และสัตว์ป่า


คู่มือเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า เล่มที่ 1
ความรู้พื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า
คู่มือเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า เล่มที่ 2
ความรู้พื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่


ในปี 2556 งานเครือข่ายธรรมชาติศึกษา ได้จัดพิมพ์คู่มือการเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า  (Nature Education Manual for Wildlife Conservation) โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ความรู้พื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสัตว์ป่า และ (2) ความรู้พื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ ได้แก่ ช้างป่าและเสือโคร่ง นอกจากนั้น ในภายหลังยังจัดกิจกรรมฝึกอบรม เพื่อเผยแพร่ สร้างความเข้าใจให้กับผู้นำกิจกรรมธรรมชาติ และผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า แก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ต่อไป

ข้อเด่น กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า

  • ใช้ได้กับผู้สนใจเรียนรู้ธรรมชาติทุกกลุ่มเป้าหมาย
  • เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้จัดกิจกรรม ผู้เรียน และธรรมชาติ
  • เน้นให้ผู้เรียนรู้ ได้เรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยการสัมผัสตรงและมีประสบการณ์ร่วมกับธรรมชาติ
  • ใช้เกมหรือกิจกรรมธรรมชาติ ในการเรียนรู้ ผู้เรียนจึงเรียนรู้ด้วยความสนุก
  • ใช้อุปกรณ์ไม่มากสำหรับประกอบการจัดกิจกรรมและไม่ยุ่งยากซับซ้อน
  • เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ จึงง่ายต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจ
  • ผู้จัดกิจกรรม สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมและกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และให้สอดคล้องกับสถานที่เรียนรู้ธรรมชาติได้