งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ร่วมพัฒนาและสนับสนุนระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 มีทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อาทิ แผนที่ GPS และกล้องดิจิทัล และที่สำคัญคือ การสนับสนุนในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การเข้าร่วมเสนอแนะในการประชุมวางแผนการลาดตระเวน และการร่วมจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนภายใต้ “โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพงานลาดระเวนเชิงคุณภาพ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” เป็นประจำทุกปี ซึ่งมีทั้งหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ใหม่ และหลักสูตรทบทวนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว รุ่นละประมาณ 30 นาย โดยเนื้อหาหลักสูตร ได้แก่ การใช้แผนที่ เข็มทิศ GPS การจำแนกร่องรอยสัตว์ป่า การใช้แบบฟอร์มมาตรฐานเพื่อบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน การวางแผนการลาดตระเวน บุคคลทำการรบ การใช้อาวุธปืน การซุ่มจับ การเข้าจับกุม และการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ  

ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ราว 70 นาย หรือ โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่ 1 นาย รับผิดชอบพื้นที่ 25,700 ไร่ (41 ตร.กม.) โดยการบริหารงานลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แบ่งตามเขตการจัดการทั้ง 5 เขต มีชุดลาดตระเวนทั้งหมด 8 ชุด โดยรูปแบบการลาดตระเวนมีทั้งการลาดตระเวนด้วยการเดินเท้า การใช้ยานยนต์ การตั้งจุดสกัด การลาดตระเวนทางน้ำ (ตามแม่น้ำเพชรบุรี) และการลาดตระเวนทางอากาศ

 

 

เฉลี่ยแต่ละปี มีการเดินลาดตระเวนจำนวน 450 ครั้ง การลาดตระเวนด้วยการเดินเท้าครอบคลุมระยะทางเฉลี่ย 3,970 ก.ม. ต่อปี สามารถดำเนินคดีเกี่ยวกับลักลอบล่าสัตว์ป่าปีละ 10 คดี การลักลอบทำไม้ 9 คดี และคดีบุกรุกแผ้วถาง 13 คดี ความเข้มข้นของการลาดตระเวนจะอยู่ทางด้านตะวันออกและทางใต้ของอุทยานฯ ซึ่งสัมพันธ์กับความเข้มข้นของภัยคุกคามที่มาจากทางตะวันออกและทางใต้ของอุทยานฯ เช่นกัน การลาดตระเวนด้วยการเดินเท้าในพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นไปได้ด้วยความลำบากเพราะสภาพพื้นที่ ข้อจำกัดด้านกำลังพล การสนับสนุน และปัญหาความปลอดภัยตามแนวชายแดน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนชุดลาดตระเวนทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้งานป้องกันทรัพยากรมีความเข้มแข็งมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น