เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการพัฒนาของระบบนิเวศจากสภาพที่ถูกบุกรุกทำลายจากกลุ่มหมู่บ้านชาวม้ง และถูกย้ายออกไปจนสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบันพื้นที่ได้มีการฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งบางพื้นที่ป่าสามารถฟื้นคืนจนกลายเป็นป่าดิบอย่างสมบูรณ์ และพื้นที่บางส่วนเป็นทุ่งหญ้าขนาดกว้างเหมาะแก่การอยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่า ซึ่งสัตว์ป่ามีการกระจายตัวและเพิ่มประชากรมากขึ้น จากการย้ายชุมชนออกพร้อมกับสร้างระบบการป้องกันที่เข้มแข็งได้ส่งผลให้ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างอุดมสมบูรณ์

การดูแลป้องกันพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการจัดการออกเป็น 3 พื้นที่จัดการ มีหน่วยพิทักษ์ป่ารวมทั้งสิ้น 10 หน่วยประกอบด้วยหน่วยพิทักษ์ป่าถาวรจำนวน 9 หน่วย และหน่วยพิทักษ์ป่าชั่วคราวจำนวน 1 หน่วย ซึ่งตั้งกระจายตามขนาดของส่วนการจัดการพื้นที่นั้น ๆ โดยส่วนการจัดการที่ 1 มีหน่วยพิทักษ์ป่า 4 หน่วย และมีสำนักงานเขตฯ ตั้งอยู่ ส่วนการจัดการที่ 2 มี 4 หน่วย และส่วนการจัดการที่ 3 มี 2 หน่วย โดยในปี 2551 ถึง 2556 มีหน่วยพิทักษ์ป่าเพียง 9 หน่วย ต่อมาในปี 2557 ถึงปี 2558 ได้มีการสร้างหน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่มอีก 1 หน่วย ซึ่งทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าได้สนับสนุนสร้างที่พักเสริมจำนวน 1 หลัง โดยตำแหน่งที่ตั้งของหน่วยเป็นบริเวณจุดสำคัญของการลักลอบเข้ามาของผู้กระทำผิด จึงจัดตั้งเพื่อสกัดกลุ่มคนเหล่านั้น 

จำนวนทีมลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เดิมทีมีจำนวนทีมลาดตระเวนตามจำนวนของส่วนการจัดการ ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2553 มีจำนวน 5 ทีม และนับตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2558 ได้เพิ่มจำนวนทีมลาดตระเวนตามจำนวนหน่วยพิทักษ์ป่าเป็น 10 ทีม เนื่องจากประสบปัญหาปัจจัยคุกคามด้านการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่บ่อยครั้ง และเป็นปัญหาหนักมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังเพื่อกระจายกำลังในการตรวจตราพื้นที่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ปัจจุบันจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มีจำนวนทั้งสิ้น 92 นาย

แผนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก


สัตว์ป่า

ช้างป่าลูกค่าง

การลาดตระเวนดูแลป้องกันพื้นที่


ผลการดำเนินงาน

ผลจากการทำงานในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นในสองเรื่องด้วยกันได้แก่ เรื่องของความมีระเบียบวินัย และเข้าใจถึงบทบาทของตนต่องานลาดตระเวน และมีความเชี่ยวชาญในการทำงานลาดตระเวนโดยสามารถทำงานลาดตระเวนได้อย่างมีระบบและระเบียบแบบแผนสามารถใช้เทคนิคยุทธวิธีทางทหารได้แก่ ยุทธวิธีการลาดตระเวน และการใช้อาวุธปืน การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องจับตำแหน่งพิกัด เข็มทิศ และกล้องถ่ายภาพ เข้ามาช่วยในการทำงานลาดตระเวนให้เกิดประสิทธิผลและนำผลการลาดตระเวนไปสู่การจัดการวางแผนเพื่อดำเนินการป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างทันท่วงทีและทันต่อเหตุการณ์

การทำงานลาดตระเวนตลอดระยะเวลา 8 ปี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ได้ใช้ความรู้และเทคนิคที่ได้รับจากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในการทำงานเพื่อป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีเหตุการณ์ปะทะกับผู้กระทำผิดค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถึงสามเหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์การล่าเสือโคร่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 จากการปฏิบัติการในครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวม้งได้ 1 ราย และชาวเวียดนาม 1 ราย พร้อมหลักฐานการกระทำผิดอย่างชัดเจน ได้แก่ ภาพถ่ายผู้ล่าเสือโคร่งกับซากเสือโคร่ง และในปี 2556 เจ้าหน้าที่ได้มีการวางแผนจับกุมพรานล่าเสือโคร่ง เมื่อทราบความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดในพื้นที่โดยจัดกำลังเป็นชุดเพื่อดักจับและเกิดการปะทะกันกับพรานล่าเสือโคร่ง สุดท้ายก็สามารถจับกุมพรานได้และมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายถึงที่สุด แต่ก็มีการสูญเสียกำลังเจ้าหน้าที่ไปถึง 2 นาย และกรณีสุดท้ายคือการถูกลอบทำร้ายขณะปฏิบัติงานการป้องกันการลักลอบตัดไม้ในบริเวณหมู่บ้านโดยการถูกรุมทำร้ายจากชาวบ้านในขณะขนลำเลียงไม้ที่ได้ตรวจยึดจากชาวบ้าน ในปี 2557

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งสามเหตุการณ์ เป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ยังขาดทักษะวิธีการจัดกำลังเข้าปะทะ และการเฝ้าระวังในขณะปฏิบัติงานที่รัดกุม ถึงแม้จะได้รับการฝึกฝน และฝึกซ้อมในเรื่องเทคนิคยุทธวิธีมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีแล้วก็ตาม เนื่องด้วยในปัจจุบันคนนิยมนำสัตว์ป่ามาใช้อุปโภคบริโภคตามความเชื่อ จึงยังคงมีผู้ต้องการสัตว์ป่าและเข้ามาล่าสัตว์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมงานลาดตระเวนในทุก ๆ ด้านเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ โดยเพิ่มทักษะในการใช้เทคนิคยุทธวิธีอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในทักษะและนำไปสู่ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานลาดตระเวน

การส่งเสริมเทคนิคยุทธวิธีทางทหาร การใช้อุปกรณ์เทคนิคทางเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยจัดฝึกอบรมต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ได้แก่ เครื่องกำหนดตำแหน่งพิกัด เข็มทิศ กล้องถ่ายภาพ และนอกจากนี้ยังสนับสนุนโครงสร้างและอุปกรณ์ในเรื่องความสะดวกในขณะปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ปรับวัสดุอุปกรณ์ภายในห้องประชุมลาดตระเวน บ้านพักอาศัย ยานพาหนะ อุปกรณ์ภาคสนามและเสบียงอาหาร เป็นต้น

การฝึกอบรมเสริมเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ


ห้องประชุมลาดตระเวน



การสนับสนุนที่พักอาศัยเพื่อความสะดวกระหว่างการปฏิบัติงาน



การสนับสนุนยานพาหนะเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ลำบากทุรกันดาร


ปริมาณการเดินลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกนับตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ปี 2551 มีปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ขนาดกริด 1 ตารางกิโลเมตร เป็นจำนวน 12 ครั้ง และในปี 2558 ได้มีการขยายพื้นที่เดินลาดตระเวนเพิ่มมากขึ้นมีปริมาณการเดินลาดตระเวนเป็นจำนวน 41 ครั้ง และเมื่อดูปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2558 มีการเดินครอบคลุมเกือบเต็มทั้งพื้นที่และมีการเดินลาดตระเวนออกนอกพื้นที่ขึ้นไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางด้วย รวมเป็นจำนวน 304 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลการลาดตระเวนประจำเดือนในรูปแบบ SMART

ภาพเปรียบเทียบปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ปี 2551 และปี 2558 และภาพรวมตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2558

 
ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2551
 ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2558
 ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2551 - 2558


ตัวอย่างรูปแบบรายงานลาดตระเวน SMART

จากกรณีเกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างพรานและเจ้าหน้าที่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อุ้มผาง และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้มีการประชุมบ่อยครั้งเพื่อปรึกษาหารือหาแนวทางป้องกันและแก้ไข นอกจากนี้ยังปรึกษากับคณะครูฝึกตำรวจเพื่อหามาตรการการทำงานให้มีความปลอดภัยในครั้งต่อไป

ภาพการปรึกษากันระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อุ้มผางและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า



ภาพการปรึกษากับคณะครูฝึกตำรวจเพื่อหามาตรการการทำงานให้มีความปลอดภัย

เป้าหมายต่อไป

เป้าหมายที่ต้องการต่อไปในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ คือยังคงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในทุก ๆ ด้าน โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมที่จะทำงานลาดตระเวนอยู่เสมอ ทั้งในด้านการฝึกอบรมเทคนิคยุทธวิธี การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งนับวันจะมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การสนับสนุนเครื่องอำนวยความสะดวกตามความเป็นจริงให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว 

นอกจากการส่งเสริมงานลาดตระเวนเบื้องต้นแล้วยังคงต้องมีการพัฒนาศักยภาพในเรื่องของการใช้ข้อมูลลาดตระเวนมาวางแผนเพื่อจัดการพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีจากการใช้ระบบฐานข้อมูลลาดตระเวน SMART ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่พร้อมจะใช้เป็นที่รองรับข้อมูลการลาดตระเวนทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานลาดตระเวนปกติ การวางแผน และการข่าว โดยระบบฐานข้อมูล SMART สามารถวิเคราะห์ผลการลาดตระเวนที่มีการลาดตระเวนปกติไปพร้อมกับการมีแผนการลาดตระเวนและการข่าวได้ ซึ่งจะส่งผลให้การลาดตระเวนมีแบบแผน และจุดมุ่งหมายชัดเจนมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลสำเร็จในการจัดการปัญหาของปัจจัยคุกคามได้ตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป