งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (พื้นที่ต้นแบบ)

ผืนป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2515 มีพื้นที่รวม 1,737,587 ไร่ หรือประมาณ 2,780 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

นับว่าเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า โดยเฉพาะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสุดท้ายของควายป่า สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย และสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด เช่น แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เลียงผา วัวแดง เสือโคร่ง ช้างป่า เป็นต้น ในจำนวนสัตว์ป่าที่สำรวจมาแล้วทั้งหมด มีสัตว์ป่าที่ได้รับการกำหนดสถานภาพโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) ให้อยู่ในกลุ่มที่ถูกคุกคาม และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) จำนวน 28 ชนิด อาทิเช่น เสือโคร่ง ควายป่า เลียงผา วัวแดง กระทิง ช้างป่า สมเสร็จ นกเงือกคอแดง เก้งหม้อ เป็นต้น

นอกจากการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์แล้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ภาคตะวันตก และภาคกลางบางส่วนรวมนับล้านชีวิต ทั้งภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม และถือว่าเป็นธนาคารพันธุกรรมของพันธุ์พืช และสัตว์ป่าที่รอการศึกษาวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนเพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป และเมื่อรวมพื้นที่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้พื้นที่ทั้งสองมีความสำคัญยิ่งจนได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญของประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และนักวิจัยทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาวิจัยเสือโคร่ง ระบบลาดตระเวนป้องกันรักษาผืนป่า และสัตว์ป่าซึ่งเป็นหัวใจหลักของการรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าให้คงอยู่ ตลอดจนการจัดการสัตว์ป่า และพื้นที่ตามหลักวิชาการ การเผยแพร่ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

แผนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

 


การลาดตระเวนดูแลป้องกันพื้นที่

 

 


ผลการดำเนินงาน

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้มีการพัฒนาระบบลาดตระเวนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จากระบบลาดตระเวนภายใต้โครงการติดตามตรวจสอบการลักลอบฆ่าช้าง (Monitoring Illegal Killing of Elephants; MIKE) จนกระทั่งปี 2551 ถึง 2556 ได้พัฒนาเทคนิคและระบบฐานข้อมูลลาดตระเวนภายใต้ระบบลาดตระเวนแผนใหม่ (spatial Management Information System; MIST) และในปี 2557 ถึงปัจจุบันได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลลาดตระเวนจากพื้นที่และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนลาดตระเวนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งระบบฐานข้อมูลใหม่นั้น คือ SMART (Spatial Monitoring And Reporting Tool)

ปริมาณการเดินลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นับตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในระบบลาดตระเวน ปี 2549 มีปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ขนาดกริด 1 ตารางกิโลเมตร เป็นจำนวน 36 ครั้ง และในปี 2558 ได้มีการขยายพื้นที่เดินลาดตระเวนเพิ่มมากขึ้นมีปริมาณการเดินลาดตระเวนเป็นจำนวน 50 ครั้ง และเมื่อดูปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558 มีการเดินครอบคลุมเกือบเต็มทั้งพื้นที่และมีการเดินลาดตระเวนออกนอกพื้นที่ไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ติดกันอีกด้วย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 436 ครั้ง 

ภาพเปรียบเทียบปริมาณการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ปี 2549 และปี 2558 และภาพรวมตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558

 

   
ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2549
ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2558
 
ภาพปริมาณการเดินลาดตระเวน
ครอบคลุมพื้นที่ปี 2549 - 2558

ผลการปฏิบัติงานลาดตระเวนเพื่อป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการนำผลการลาดตระเวนมาใช้ในการวางแผนจัดการกับปัจจัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการวางแผนเพื่อจัดการปัญหาการล่าเสือโคร่งที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งได้มีการร่วมมือกันระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง โดยมีการวางแผนในการลาดตระเวน มีการใช้เทคนิคการปะทะเข้าจับกุม และการใช้ข้อมูลด้านการข่าว รวมถึงเทคนิคด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้าช่วยจึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาลักลอบล่าเสือโคร่งได้ จากการปฏิบัติการในครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวม้งได้ 1 ราย และชาวเวียดนาม 1 ราย พร้อมหลักฐานการกระทำผิดอย่างชัดเจน ได้แก่ ภาพถ่ายผู้ล่าเสือโคร่งกับซากเสือโคร่ง อันจะเห็นได้ว่าการต่อสู้กับอาชญากรรมด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่านั้น จำเป็นจะต้องนำความรู้ และเทคนิคหลากหลายด้านบูรณาการเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกอบรมตามโครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อให้งานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด อีกทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดการบาดเจ็บและการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงตลอดเวลา โดยการฝึกอบรมภายใต้ “โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” เป็นการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนใหม่ซึ่งยังไม่ได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมมาก่อน เพื่อเป็นการสร้างเสริมให้เกิดพื้นฐานในการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญในงานด้านการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และได้มีการส่งนิสิตชายชั้นปีที่ 4 จำนวน 30 คน เข้าร่วมการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ด้วย โดยนิสิตเหล่านี้จะเป็นบุคคลในระดับสั่งการในพื้นที่อนุรักษ์ของไทยภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ออกไปแล้ว ดังนั้นหากได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการจะเป็นการเสริมความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์และสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต

ดังนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และขอความร่วมมือจากกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์สืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 3 กองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 2 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 6 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญในด้านเทคนิคการลาดตระเวน การเข้าจับกุม และการใช้อาวุธปืน เพื่อช่วยในเรื่องของการสร้างเสริมความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยหวังว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ารวมไปถึงเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานให้แก่การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในประเทศไทย

การฝึกอบรมเสริมเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ



Stand for Wildlife