การรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หลักการและเหตุผล

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมกับองกรค์ Rare Conservation (USA , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดำเนินโครงการรณรงค์กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และเหยื่อของเสือโคร่ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2553 โดย รณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ได้แก่ หมูป่า เก้ง กวาง กระทิง และวัวแดง โดยมีเป้าหมายของโครงการเพื่อ ต้องการลดการล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบ ได้แก่ หมูป่า เก้ง กวาง กระทิง และวัวแดง โดยการลดความต้องการบริโภค และความต้องการจำหน่าย (Demand and supply) เนื้อสัตว์ป่าในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี โดยมีกิจกรรมหลักของโครงการคือการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ โดยใช้สื่อที่หลากหลาย และกิจกรรมรณรงค์ที่เหมาะสมในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

คุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์เสือโคร่ง และเหยื่อของเสือโคร่ง

ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งรวมของประชากรสัตว์ป่า ที่มีสถานะถูกคุกคาม และใกล้สูญพันธุ์ ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ เช่น เสือโคร่ง , วัวแดง, ช้างป่า, กระทิง โดยเฉพาะ เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่กำลังอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างยิ่งทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ จากการถูกล่าโดยตรง ถูกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงการที่เหยื่อของเสือโคร่งถูกล่าจนไม่เอื้อให้เสือโคร่งอยู่รอดและเพิ่มจำนวนได้

ผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จากแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Tiger Action Plan, 2004) รายงานว่า บริเวณกลุ่มป่าที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุดคือผืนป่าตะวันตก นอกจากนี้ จากการศึกษาประชากรเสือโคร่งอย่างเป็นระบบ โดย ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ และคณะ (2007) ซึ่งใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trapping) ในพื้นที่ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Program Capture ประเมินความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งอยู่ที่ 3.98 ตัว / 100 ตร.กม และประเมินประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ว่าควรจะมีปริมาณ 113 ตัว

ในปัจจุบันเสือโคร่งกำลังเผชิญกับปัจจัยคุกคามมากมาย ถิ่นที่อยู่อาศัยกำลังถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตร และที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อีกทั้งคนท้องถิ่นในบางพื้นที่ยังคงล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง อาทิ เก้ง กวาง หมูป่า และ วัวแดง เพื่อเลี้ยงชีพหรือขายเนื้อสัตว์ป่า ปัจจัยคุกคามเหล่านี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรของเสือโคร่งลดลง เพราะหากไม่มีจำนวนเหยื่อที่เพียงพอเสือโคร่งก็จะไม่สามารถอยู่รอด หรือสืบพันธุ์ และเพิ่มจำนวนประชากรในสภาพธรรมชาติได้ เมื่อปัจจัยคุกคามของเสือโคร่ง เกือบทั้งหมดเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ผืนป่าอนุรักษ์และชุมชนที่ตั้งอยู่รายรอบผืนป่าอนุรักษ์ จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงคงอยู่ของประชากรเสือโคร่งในถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง จะไม่มีชุมชนอยู่อาศัยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ตาม ในแนวเขตป่ากันชนด้านตะวันออก ในส่วนของพื้นที่อำเภอลานสัก ห้วยคต และบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ก็ยังรายรอบด้วยชุมชนอย่างน้อย 30 หมู่บ้าน ที่จะมีส่วนร่วมเป็นผู้กำหนดอนาคตของประชากรเสือโคร่งในผืนป่าแห่งนี้

แผนที่แสดงหมู่บ้านบริเวณแนวแขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ในพื้นที่ติดต่อกับ อำเภอลานสัก , อำเภอห้วยคต และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

พื้นที่เป้าหมาย

การรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายของโครงการ คือ พื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ประกอบด้วย พื้นที่ 6 ตำบล รวม 84 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 54,163 คน (ข้อมูลปี 2553) และได้กำหนดพื้นที่อำเภอห้วยคต เป็นพื้นที่เปรียบเทียบการดำเนินโครงการ

กลุ่มเป้าหมาย

โครงการฯ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1. บุคคลทั่วไป ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอลานสัก รวมถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในพื้นที่รวม 20 โรงเรียน

2. ร้านอาหาร ทั้งในรูปแบบของร้าน และรถเข็น (Restaurant and Food Shop)

3. ร้านค้า แผงลอย ในตลาด และชุมชน (Market Stall)

เป้าหมายของโครงการ

โครงการมีเป้าหมายในการดำเนินการ คือ เพิ่มจำนวนประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้แก่ หมูป่า เก้ง กวาง กระทิง และวัวแดง ด้วยการรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมาย ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ได้แก่ หมูป่า เก้ง กวาง กระทิง และวัวแดง เพื่อ ต้องการลดการล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบ โดยการลดความต้องการบริโภค และความต้องการจำหน่าย (Demand and supply) เนื้อสัตว์ป่าในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ผลการดำเนินงาน

กิจกรรมต่างๆของโครงการที่ดำเนินการ มุ่งหวังที่จะนำกลุ่มเป้าหมายไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ การหยุดการบริโภคและการขายเนื้อสัตว์ป่า โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการซื้อขายเนื้อสัตว์ป่า และการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของกฎหมาย และการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผ่านทางสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธุ์ด้านต่างๆที่โครงการได้จัดทำขึ้น

รูปแบบของกิจกรรม ภายใต้โครงการรณรงค์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. สื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

2. กิจกรรมการมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ เช่น การเดินขบวนรณรงค์ การประชุม ศึกษาดูงาน การตรวจร้านอาหารปลอดเนื้อสัตว์ป่า เป็นต้น

สื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

1. มาสคอตรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง: ใช้ในการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติที่ดี ต่อเสือโคร่งให้กับประชาชน และกลุ่มเป้าหมายในชุมชน

2. ผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผม: รณรงค์ ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า สำหรับร้านอาหาร และร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการ ร้านอาหารปลอดเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงร้านค้า และร้านอาหาร ในพื้นที่โครงการ จำนวน 300 ชุด

3. ป้ายรณรงค์: ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า และร่วมแจ้งข่าวการซื้อขายเนื้อสัตว์ป่า ติดตั้งในพื้นที่โครงการ จำนวน 25 จุด


4. สติกเกอร์: รณรงค์ ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า และร่วมแจ้งข่าวการซื้อ ขาย เนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย และติดตั้งในพื้นที่ จำนวน 2,000 ชิ้น



5. เสื้อยืด และ เสื้อ T-shirt รณรงค์: คนลานสัก ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 300 ตัว




6. โปสเตอร์รณรงค์: คนลานสัก ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่โครงการ จำนวน 3 แบบ รวม 3,000 ชิ้น




7. 
เข็มกลัด รณรงค์: บ้านเรา ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่โครงการ จำนวน 9 แบบ รวม 3,000 ชิ้น




8. 
ตุ๊กตา เสือกระดาษ: เพื่อใช้เป็นสื่อในการรณรงค์กับเด็ก และเยาชน ในกิจกรรมที่ทำร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 20 โรงเรียน จำนวน 1000 ชุด




9. 
วีซีดี: เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ความรู้ และคุณค่าของผืนป่าห้วยขาแข้ง และการอนุรักษ์เสือโคร่ง พื่อใช้เป็นสื่อในการรณรงค์กับเด็ก และเยาชน และกลุ่มคนทั่วไป ตลอดจนถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จำนวน 200 ชุด


การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง

1. กิจกรรมรณรงค์ คนลานสัก ไม่กิน ไม่ขาย เนื้อสัตว์ป่า ดำเนินการในพื้นที่อำเภอลานสัก (ตลาดเทศบาลตำบลลานสัก) และในเขตพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดอุทัยธานี พร้อมแจกสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้กับประชาชน ในเดือนมีนาคม และเดือนสิงหาคม 2553 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ครั้งที่ 1 ประมาณ 1,200 คน และครั้งที่ 2 ประมาณ 1,000 คน




2. 
กิจกรรม School Visit โดยดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอลานสัก จำนวน 20 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 1,500 คน



3. 
กิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ในเขตพื้นที่อำเภอลานสัก โดยจัดการประชุมร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 6 ตำบล จำนวน 6 ครั้ง รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,200 คน และจัดกิจกรรมทัศนศึกษาดูงานให้กับผู้แทนอสม.จำนวน 1 ครั้ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง




4. 
กิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน กลุ่มผู้นำชุมชน จากหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 7 หมู่บ้าน รวม 40 คน และจัดกิจกรรมทัศนศึกษาดูงานให้กับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน จากแต่ละหมู่บ้าน.จำนวน 1 ครั้ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง




5. 
กิจกรรมฝึกอบรมครู เพื่อการพัฒนาการสอนเรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง จำนวน 1 ครั้ง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีครูเข้าร่วมกิจกรรมรวม 30 คน จากโรงเรียนประถมและมัธยม ในพื้นที่อำเภอลานสัก จำนวน 20 โรงเรียน


6. 
จัดทำโครงการร้านอาหารปลอดภัย ปลอดเนื้อสัตว์ป่า ร่วมกับเทศบาลตำบลลานสัก, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลานสัก และหน่วยปฎิบัติการด้านสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการโครงการร้านอาหารปลอดภัย ปลอดเนื้อสัตว์ป่า และร่วมตรวจร้านอาหารในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลลานสัก ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 ร้าน




7. 
จัดกิจกรรมอบรมผู้ประกอบการร้านอาหาร ในเขตพื้นที่อำเภอลานสัก เพื่อจัดทำโครงการร้านอาหารปลอดภัย ปลอดเนือ้สัตว์ป่า โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอลานสัก และเทศบาลตำบลลานสัก จำนวน 2 ครั้ง มีผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร เข้าร่วมโครงการรวม 100 คน



8. จัดรายการวิทยุ เสียงจากห้วยขาแข้ง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กับชุมชน รวมถึงประชาสัมพันธ์

กิจกรรมต่างๆ โครงการ ผ่านสปอตวิทยุของโครงการ และรณรงค์การแจ้งข่าวการซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าในพื้นที่อำเภอลานสัก ทางสถานีวิทยุชุมชนคนลานสัก 103.75 MHz ออกอากาศทุกวัน จันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 16.00 - 17.00 น. ออกอากาศระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2553




9. 
จัดกิจกรรม ค่ายการ์ตูน เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับสมาคมการ์ตูนแห่งประเทศไทย จัดอบรมการวาดภาพการ์ตูนเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง ให้กับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 33 คน ในเดือนสิงหาคม 2553 และจัดประกวดวาดภาพการ์ตูนเพื่อรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง โดยมีพิธีมอบรางวัลและทุนการศึกษา ในวันที่ 1 กันยายน 2553 (วันรำลึกสืบ นาคะเสถียร)