โครงการ "เพื่อนป่า เพื่อนสัตว์ป่า เพื่อนอาสา เพื่อนห้วยขาแข้ง"

 

“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” ผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย เป็นผืนป่าที่มีคุณค่าและความสำคัญทางด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในระดับโลก กว่า 28 ปี ของการประกาศให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่งผลให้ป่าแห่งนี้ยังคงได้ทำหน้าที่เป็นบ้านหลังสุดท้ายให้กับสัตว์ป่ามากมายหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์จากสภาพธรรมชาติ เช่น ควายป่า วัวแดง แมวลายหินอ่อน รวมถึงสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น เช่น นกเงือกคอแดง และค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม นอกจากนี้ ผืนป่าแห่งนี้ยังเป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่าที่ได้รับการยอมรับถึงคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบนิเวศป่า เช่น ช้างป่า และเสือโคร่ง ที่นับวันจะมีจำนวนประชากรในสภาพธรรมชาติลดน้อยลงทุกวัน แต่เราก็พบว่าสัตว์ป่าเหล่านี้ยังคงมีจำนวนประชากรค่อนข้างมั่นคงในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งแห่งนี้

 

ในช่วงปี 2533 คุณสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในขณะนั้น ได้จัดทำรายงานคุณค่าความสำคัญของผืนป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก เพื่อนำเสนอกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) และนำเสนอต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในนามของรัฐบาลไทย เข้าสู่การพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อประกาศผืนป่าทั้งสองนี้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ  และในวันที่ 9 ธันวาคม 2534  ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ก็ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ ประเทศตูนีเซีย  ผลจากการขึ้นบัญชีเป็นผืนป่ามรดกโลกในครั้งนั้น ส่งผลให้ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน ของสังคม ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล อนุรักษ์ และรักษาผืนป่าแห่งนี้ร่วมกันต่อไปอย่างมีคุณภาพ

 

24 ปี ของการเป็นผืนป่ามรดกโลก “ห้วยขาแข้ง” ได้ทำหน้าที่เป็นบ้านที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า และยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ และทรัพยากรสัตว์ป่า ผืนป่าแห่งนี้ยังสามารถรับประกันความมั่นคงของความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยและของโลกใบนี้ได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงสามารถคุ้มครองความอยู่รอดของสัตว์ป่ามิให้สูญพันธุ์ไปจากการถูกล่าและถูกทำลายในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อการรักษาระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้แล้ว “ผืนป่าห้วยขาแข้ง” ยังได้ทำหน้าที่เป็น “ห้องเรียน ห้องสมุดทางธรรมชาติ” ที่สำคัญยิ่งต่อผู้คนทั้งในประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย รวมไปถึงผู้คนจากต่างประเทศ โดยช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า และปัญหาภัยคุกคามที่มีต่อทรัพยากรเหล่านั้น อันจะมีผลส่งต่อมายังมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับผู้คนและสังคม และนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้งร่วมกันในที่สุด

 

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เป็นองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศไทย โดยได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการสนับสนุนการดำเนินงานของกรมอุทยานฯ ในด้านงานป้องกันลาดตระเวนพื้นที่ งานศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า งานแก้ไขปัญหาผลกระทบระหว่างสัตว์ป่ากับชุมชน และงานเครือข่ายธรรมชาติศึกษา ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง โดยหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์เหล่านั้น คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

และในปี 2559 นี้ งานเครือข่ายธรรมชาติศึกษา สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และองค์กรเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ  “เพื่อนป่า เพื่อนสัตว์ป่า เพื่อนอาสา เพื่อนห้วยขาแข้ง - SMART - Wildlife Conservation Volunteer for HKK” ขึ้น เพราะเราเชื่อว่า “ป่า” ยังต้องการเพื่อน “สัตว์ป่า” ยังต้องการเพื่อน และ “ห้วยขาแข้ง” ยังต้องการเพื่อน เพื่อนที่มีความรักและเข้าใจในเพื่อน บนพื้นฐานของวิชาการและความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อนที่พร้อมเสียสละ นำความรู้ความสามารถและศักยภาพที่มี เข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลและปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า


อย่างไร คือ อาสาสมัครเชิงคุณภาพ SMART - Wildlife Conservation Volunteer 

S = Specific   โครงการและกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครจะต้องมีความชัดเจน

M = Measurable โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการ จะต้องสามารถวัดได้

A = Attainable โคงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการ จะต้องสามารถบรรลุได้จริง

R = Realistic โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการ จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของพื้นที่

T = Timely โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการ จะต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนในการทำงาน


องค์กรภาคี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง | สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ | สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย | มูลนิธิห้วยขาแข้ง | Save Wildlife of Thailand | Nature Camp อาสา | ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศเกษตร (NAEC) | กลุ่มหุ่นไล่กา | กลุ่มใบไม้ และ กลุ่มกิจกรรมธรรมชาติ อุทัยธานี


ช่วงเวลาดำเนินการ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี  ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 แบ่งเป็น

1. ช่วงเตรียมโครงการ เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2558

2.  ช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ เดือนธันวาคม 2558 - มิถุนายน 2559

3. ช่วงสรุปและประเมินโครงการ เดือนกรกฎาคม 2559


แผนการดำเนินโครงการ

ตุลาคม - พฤศจิกายน 2558

ประสานงานองค์กรเครือข่าย จัดเตรียมโครงการ

ธันวาคม - มกราคม 2559

เปิดรับสมัครอาสาสมัคร ผ่าน Social Network

มกราคม 2559

ปฐมนิเทศ อาสาสมัคร

กุมภาพันธ์ 2559

จัดกิจกรรมเรียนรู้และเตรียมความพร้อมเพื่อการเป็น SMART - Wildlife Conservation Volunteer 

มีนาคม - มิถุนายน 2559

กิจกรรมอาสาสมัคร เพื่อนป่า เพื่อนสัตว์ป่า เพื่อนอาสา  เพื่อนห้วยขาแข้ง (อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง) ภายใต้การกำกับดูแลของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

กรกฎาคม 2559

สรุปผลการดำเนินงานอาสาสมัคร รุ่นที่ 1/2559

กรกฎาคม 2559
ประเมินโครงการ และ สรุปผลการดำเนินโครงการ