การฝึกอบรมเทคนิคการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่า
Training Course on Tiger and Wildlife Population Monitoring Techniques

การที่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีกหลาย ๆ ชนิด การที่สัตว์ป่าเหล่านี้ยังคงอยู่ได้ในพื้นที่ เนื่องจากสาเหตุหลักคือ การมีระบบป้องกันรักษาป่าและสัตว์ป่าที่เข้มแข็ง ดำเนินการภายใต้ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol system) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบติดตามประสิทธิภาพของการลาดตระเวน การกระจายและความเข้มข้นของปัจจัยคุกคาม และช่วยในการวางแผนการลาดตระเวนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาจากฐานข้อมูล MIST เป็น SMART (Spatial Monitoring and Reporting Tool) ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และกำลังใช้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ ๆ หลายแห่งทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยระบบนี้ได้มีการพัฒนาใช้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ร่วมงานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในการสำรวจประชากรเสือโคร่งระยะยาว โดยเริ่มต้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกและเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลก โดยดำเนินงานภายใต้ โครงการการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งได้วางระบบการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trapping) และวิเคราะห์โดยวิธี Capture-Recapture Analysis ตามวิธีการของ Karanth and Nichole (2002) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน  ผลการคำนวณทางสถิติพบว่า เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งมีการศึกษาติดตามประชากรของเสือโคร่งทุกปี มีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 80-100 ตัว ส่งผลให้ผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับสากล

เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ปลายสุดของห่วงโซ่อาหาร เหยื่อ (ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า หมูป่า เก้ง) จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประชากรเสือโคร่ง ในทุก ๆ ปี การติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณเหยื่อของเสือโคร่ง สำรวจโดยใช้เส้นสำรวจ (line transect) และคำนวณความหนาแน่นของเหยื่อด้วยวิธีการ Distance Sampling และวิเคราะห์โดยโปรแกรม DISTANCE จึงได้เริ่มขึ้นควบคู่ไปกับการศึกษาประชากรเสือโคร่ง โดยเริ่มต้นจาก การศึกษาประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในผืนป่าห้วยขาแข้ง และยังได้ขยายผลการศึกษาออกไปยังพื้นที่ข้างเคียงภายใต้โครงการ การศึกษาประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร



  ผลจากการทำงานอย่างยาวนานและจริงจังโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสถิติเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด จึงเกิดเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่ควรได้รับการเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจในการศึกษาด้านสัตว์ป่าได้รับทราบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปประกอบใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไป สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยจึงร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำจัดทำ โครงการฝึกอบรมเทคนิคการตรวจวัดประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่า ซึ่งแบ่งเป็นการฝึกอบรมภาคสนาม (เช่น ฝึกการอ่านแผนที่ การใช้ GPS การเก็บข้อมูลในการเดินลาดตระเวน การเก็บข้อมูลสัตว์ป่า เป็นต้น) และการฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ (เช่น การจัดการฐานข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพโดยโปรแกรม SMART การวิเคราะห์ข้อมูลสัตว์ป่าโดยใช้โปรแกรม CAPTURE-RECAPTURE โปรแกรม Presence เป็นต้น) โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่นิสิต นักศึกษา นักวิจัยและนักวิชาการด้านสัตว์ป่าที่สนใจในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาด้านประชากรของสัตว์ป่าให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 244 คน ดังนี้

 


ติดตามการฝึกอบรมล่าสุดได้ที่นี่: โครงการฝึกอบรมเทคนิคการอนุรักษ์เสือโคร่ง รุ่นที่ 10