ช้างเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณีไทยมานาน ทั้งยังมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ และนอกจากนี้ช้างยังมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เช่น ช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยคงความสมดุลของผืนป่า ช่วยเกื้อกูลสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
ปัจจุบัน ช้างถูกคุกคามทั้งทางตรง (การล่าเพื่อเอางาและอวัยวะ) และทางอ้อม (การถูกบุกรุกพื้นที่อาศัย) ต่อมาจึงมีการประกาศให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย เพื่อให้คนไทยและเยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของช้าง และพร้อมใจกันอนุรักษ์ช้างไทย
ดังนั้น สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลด้านการอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “สัปดาห์รักษ์ช้างป่าละอู” ขึ้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี เพื่อให้ทุกคนมีความรู้เกี่ยวกับช้างมากขึ้น ได้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของช้าง และได้รู้ถึงสถานการณ์ปัญหาช้างป่าในปัจจุบัน เช่น ปัจจัยคุกคาม และการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นต้นโดยในวันที่ 10 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ จัดงาน “วันอนุรักษ์ช้างไทย 2559” ขึ้น ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ กจ. 7 (เขาหุบเต่า) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ มีกิจกรรมร่วมทำบุญ และจัดเสวนา “การแก้ไขปัญหาช้างป่าแก่งกระจาน” ก่อนจะลงพื้นที่ร่วมทำโป่งเทียม และเติมน้ำในแหล่งน้ำเพื่อให้ช้างได้เข้าใช้ประโยชน์ในช่วงที่ประสบภัยแล้ง โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบไปด้วย ตัวแทนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ และตัวแทนสื่อมวลชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ต่อมา ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2559 ทางสมาคมฯ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ช้างไทยอื่น ๆ อาทิ นิทรรศการเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของช้างป่าและการอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา และกิจกรรมช้างป่ากับพุทธศาสนา เป็นต้น