ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้วางระบบการตรวจวัดประชากรเสือโคร่ง และเหยื่อ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตามมาตรฐานสากลและดำเนินการจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งระบบดังกล่าวสมควรได้รับการเผยแพร่ให้แก่นิสิตนักศึกษา และบุคคลภายนอกที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป ดังนั้นโครงการฝึกอบรมเทคนิคการอนุรักษ์เสือโคร่ง รุ่นที่ 9 ได้จัดขึ้นเพื่อให้นิสิตระดับปริญญาตรี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1) มีความเข้าใจหลักการและการปฏิบัติงาน ภายใต้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) 2) มีความเข้าใจวิธีการประเมินการกระจายของเสือโคร่ง สัตว์ป่าที่สำคัญ และปัจจัยคุกคาม ด้วยวิธี Occupancy 3) มีความเข้าใจหลักการและวิธีการประเมินประชากรเสือโคร่ง และประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง และ 4) เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงานในป่า โดยให้ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและนักวิจัยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยแบ่งเป็นการฝึกอบรมภาคสนาม ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 8 กรกฎาคม 2558 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และการฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 4 - 8 สิงหาคม 2558 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 39 คน เป็นนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า จำนวน 24 คน สาขาอุทยาน นันทนาการ และการท่องเที่ยว จำนวน 14 คน และสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1 คน
ผู้เข้าร่วมอบรมลงทะเบียน รับเอกสารและอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมจากทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS)
ประเทศไทย
การบรรยายหลักการและการใช้ และการทดสอบการใช้แผนที่ เข็มทิศ และ GPS ในการสำรวจเก็บข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การประเมินการกระจายของสัตว์ป่า และการเก็บข้อมูลเหยื่อของเสือโคร่ง
การบรรยายแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งและเหยื่อ โดย ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์
อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียนและฝึกการใช้แบบฟอร์มในการเก็บข้อมูลลาดตระเวน ภายใต้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ป้องกันพื้นที่คุ้มครองจากภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า
เรียนวิธีการสำรวจการกระจายของสัตว์ป่าที่สำคัญ (เช่น เสือโคร่ง) และปัจจัยคุกคาม โดยการสำรวจวิธี Occupancy Survey ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ประเมินในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่
ผู้เข้าอบรมได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมลาดตระเวนประจำเดือนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมทั้งฟังการบรรยายเกี่ยวกับงานลาดตระเวน โดย นาย สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ผู้เข้าอบรมร่วมเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จริงเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน มีการเก็บข้อมูลแบบฟอร์มการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) พร้อมกับการเก็บข้อมูลการกระจายของสัตว์ป่า (Occupancy Survey)
เรียนหลักการและวิธีการสำรวจความหนาแน่นเหยื่อของเสือโคร่ง (ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง และหมูป่า)
โดยการสำรวจวิธี Line Transect Survey พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลในภาคสนามเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน
การบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยเสือโคร่งโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดย นาย สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และบรรยายเกี่ยวกับหลักการและวิธีการสำรวจประชากรเสือโคร่ง โดยเทคนิคการใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trapping)
โดย นาย เกริกพล วงศ์ชู ผู้ช่วยนักวิจัย จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
การฝึกอบรมภาคปฏิบัติการ ประกอบด้วยการเรียน 1) โปรแกรม SMART ซึ่งเป็นโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 2) โปรแกรม PRESENCE เพื่อวิเคราะห์การกระจายของสัตว์ป่า 3) โปรแกรม DISTANCE เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นและประเมินประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง และ 4) โปรแกรม Capture-recapture และโปรแกรม SPACECAP เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นและประเมินประชากรของเสือโคร่ง