สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สนับสนุนวิทยากรสำหรับการฝึกอบรม ในหลักสูตรพื้นฐานการลาดตระเวนแผนใหม่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 3 รุ่น ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา (รุ่นที่ 1 เมื่อ 21 - 27 เมษายน, รุ่นที่ 2 เมื่อ 3 - 9 พฤษภาคม และรุ่นที่ 3 เมื่อ 23 – 29 พฤษภาคม 2558) โดยการฝึกอบรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ โครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครอง หรือ CATSPA: Catalyzing Sustainability of Thailand’s Protected Area System ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยคาดหวังว่าการฝึกอบรมหลักสูตรนี้จะนำไปสู่การพัฒนาระบบลาดตระเวนพร้อมกันของกลุ่มป่าตะวันออก ทั้ง 8 พื้นที่คุ้มครองภายใต้การบริหารของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) โดยในการฝึกอบรมแต่ละรุ่นจะมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเข้าร่วมทั้งหมด 40 คน (รวมทั้งสิ้น 120 คน) จาก 8 พื้นที่อนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันออก ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จำนวน 28 คน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 15 คน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จำนวน 25 คน, อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 10 คน, อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จำนวน 10 คน, อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จำนวน 14 คน, อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จำนวน 9 คน และ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จำนวน 8 คน
เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในหัวข้อวิชาการที่จำเป็นต่องานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อาทิ การใช้แผนที่ เข็มทิศ เครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) และการบันทึกข้อมูลลาดตระเวน เป็นต้น ในขณะที่คณะครูฝึกจากกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์สืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจากกองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 2 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน จากกองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 6 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการฝึกทบทวนทักษะและเทคนิคการลาดตระเวนที่สำคัญ เช่น บุคคลทำการรบ การจัดรูปแบบการลาดตระเวน การจับกุมผู้กระทำผิด และการใช้อาวุธปืน
ผลจากการทดสอบฝึกปฏิบัติในแต่ละหัวข้อ ตลอดจนการฝึกลาดตระเวนในพื้นที่จริง ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่สามารถอ่านค่าพิกัดบนแผนที่คู่กับการใช้งาน GPS ได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นใจมากขึ้น สามารถทำการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวนได้อย่างถูกต้อง มีส่วนน้อยที่ยังต้องอาศัยการทบทวนเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนและรับอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมจาก CATSPA มีดังนี้
1. เครื่องแบบลายพราง 2. หมวกแก๊ป Smart Patrol 3. เสื้อยืด Smart Patrol 4. กางเกงกีฬา 5. กระเป๋าสะพายข้าง Smart Patrol 6. รองเท้าผ้าใบและถุงเท้า และ 7. อุปกรณ์เครื่องเขียน
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บรรยายความสำคัญของระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพต่อการจัดการพื้นที่คุ้มครอง
ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่คุ้มครอง
เจ้าหน้าที่เรียนการใช้แผนที่ และเข็มทิศ
เจ้าหน้าที่เรียนการใช้ GPSMAP 76CSx, 60CSx และ 62Sc
เจ้าหน้าที่ทบทวนและทดสอบวัดความรู้ในการใช้แบบฟอร์มในการเก็บข้อมูลลาดตระเวน
ทดสอบสมรรถภาพร่างกายทั้งก่อนและหลังการเข้ารับการฝึก ประกอบด้วย การวิ่งระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ดันพื้น กระโดดพุ่งเท้าหลังและลุกนั่ง
คณะครูฝึกทบทวนเทคนิคการลาดตระเวน การป้องกันตัวระยะประชิด และการล้อมจับกุมผู้กระทำผิด
การฝึกยิงปืน HK33 และปืนลูกซอง ด้วยกระสุนจริง
ประมวลความรู้ที่ได้มาใช้ในสถานการณ์จำลองการลาดตระเวน
รายงานผลการลาดตระเวน
พิธีปิดการฝึกอบรมและมอบใบประกาศนียบัตรโดย นายธัญนรินทร์ ณ นคร รองผู้อำนวยการโครงการ CATSPA