การศึกษาดูงาน ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดขึ้น ณ ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ป่าละอู และหน่วยป่าเลา -น้ำตกป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2559โดยคณะศึกษาดูงาน จำนวน 45 คน จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง พร้อมผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากหมู่บ้านที่อยู่ติดกับชายขอบป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อื่น ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ โดยมีนายธนายุทธ ลำคำ นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน และนายพุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้การต้อนรับ และบรรยายการจัดการปัญหาช้างป่าให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูลแนวทางการติดตามและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยใช้ระบบแนวรั้วกึ่งถาวร (Semi-permanent fence) ซึ่งเป็นมาตรการทางเลือกที่ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและช้างป่าในพื้นที่ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ในระหว่างรับฟังบรรยายสรุป มีการสอบถามแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน และเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการปกครอง นายพิตตินันท์ จันทโชติวงศ์ ปลัดอำเภอ ตัวแทนนายอำเภอลานสัก ร่วมกันเป็นตัวแทนสอบถาม มาตรการ การติดตามข้อมูล วิธีขั้นตอนการดำเนินก่อสร้างแนวรั้วกึ่งถาวร และส่วนประกอบของมาตรการอื่น ๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ให้ได้ผลดีและเหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป เพื่อจะนำแนวทางนี้ไปปรับใช้แก้ปัญหาให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
นายธนายุทธ ลำคำ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายทองใบ เจริญดง ร่วมบรรยายและให้ข้อมูลแนวทางในการแก้ปัญหาให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่า โดยใช้แนวทางการติดตามและใช้ระบบแนวรั้วกึ่งถาวร (Semi-permanent fence)
ภาพโดย นายทองใบ เจริญดง / WCS