สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษ ภายใต้ห้วข้อ “Using science to inform conservation of the Amur tiger” โดย ดร. เดล มิเกล (Dale Miquelle) ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศรัสเซีย ซึ่งบรรยายให้แก่นิสิตคณะวนศาสตร์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ณ ห้องสง่าสรรพศรี ตึกวนศาสตร์ 60 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ในปี พ.ศ. 2535 ดร. เดล มิเกล เริ่มงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งไซบีเรียน นับเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งที่ดำเนินงานมายาวนานที่สุดในโลก นอกจากนี้ท่านยังมีความตั้งใจโดยมุ่งเน้นที่จะสร้างเสริมศักยภาพให้กับนักอนุรักษ์เสือโคร่งรุ่นใหม่ทั่วภูมิภาค รวมถึงความพยายามในการพัฒนางานวิจัยให้อยู่ในระดับนานาชาติ และให้มีโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ แก่นักเรียนต่างชาติอีกด้วย
ในการบรรยายพิเศษนี้ ดร. เดล มิเกล ได้กล่าวเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งไซบีเรียน ในฝั่งตะวันออกของประเทศรัสเซีย โดยสาเหตุที่เสือโคร่งลดจำนวนลงนั้น มาจาก จำนวนเหยื่อที่เป็นอาหารหลัก (เช่น กวาง หมูป่า) ของเสือลดลงอันเกิดจากการล่า ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือลดลงเพราะการบุกรุกพื้นที่โดยมนุษย์ เป็นต้น ดังนั้นสาเหตุหลักที่ทำให้เสือโคร่งมีจำนวนลดลง ก็คือ กิจกรรมของมนุษย์ นั่นเอง ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งไซบีเรียน จึงต้องนำงานวิจัยเข้ามาช่วย ซึ่งในระยะแรก มีการติดวิทยุติดตามเสือโคร่งไซบีเรียน บริเวณเทือกเขา Sikhote-Alin เพื่อศึกษาขนาดของถิ่นที่อยู่อาศัย พบว่า เสือเพศเมียมีขนาดของพื้นที่อาศัยประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่เสือโคร่งเบงกอลเพศเมียในประเทศอินเดีย มีขนาดของพื้นที่อาศัยประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร โดยสาเหตุหนึ่งที่ขนาดพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งต่างกันนั้นสัมพันธ์กับความหนาแน่นของเหยื่อในพื้นที่นั่นเอง นอกจากนี้ทางโครงการยังจัดตั้งชุดเฝ้าระวังเสือโคร่ง (Tiger response team) ในบริเวณที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ เพื่อบรรเทาและลดปัญหาที่เกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้เสือถูกชาวบ้านทำร้ายหรือฆ่าตาย
ในตอนท้ายดร. เดล มิเกล สรุปไว้ว่า ประชากรเสือจะกลับคืนมาได้ หากจำนวนเหยื่อเพิ่มขึ้น ถิ่นที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น และต้องมีความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างพื้นที่ที่ติดต่อกัน
สามารถชมและรับฟังส่วนหนึ่งของการบรรยายได้ที่นี่