เสือโคร่งเพศผู้ (ลำตัวยาวประมาณ 3.2 เมตร) ถูกยิงโดยกองกำลังชายแดน (Border Guard Force; BGF) ภายหลังจากที่ได้เข้าทำร้ายชาวประมงสองคน เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บริเวณหมู่บ้าน Kawkareik ซึ่งอยู่ทางตอนบนของรัฐกะเหรี่ยง (Kayin) ด้านตะวันออกของประเทศพม่า
เสือโคร่งเพศผู้ซึ่งถูกยิงโดยกองกำลังชายแดน ประเทศพม่า (ภาพ: Myawaddy News)
เมื่อเวลาตี 4 ครึ่ง ชาวประมงคนแรกถูกเสือกระโดดเข้าทำร้าย หลังจากนั้นเวลา 7 โมง ชาวประมงอีกคนถูกเสือตัวเดียวกันนี้เข้าทำร้าย หลังจากนั้นทางทหารและเจ้าหน้าที่จึงตามล่าเสือตัวนี้ เพื่อความปลอดภัยของคนในหมู่บ้านเนื่องจากได้สร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้าน และถูกยิงตายเมื่อเวลา 11 โมงครึ่งในวันเดียวกัน ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งสองคนมีบาดแผลไม่รุนแรงนัก และถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล Kawkareik นอกจากนี้ภาพเสือโคร่งที่ถูกยิงตาย และภาพชาวประมงที่โดนเสือตัวนี้ทำร้ายได้ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
(ภาพ: Myawaddy News)
นาย U Win Naing Thaw ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ กล่าว “เสือถูกฆ่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ไม่ได้ฆ่าเพื่อการค้า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่าเสือตัวนี้มาจากที่ใด และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ทุกคนให้ใช้วิธีการไล่เสือ แทนการฆ่า เพราะประชากรเสือยิ่งเหลืออยู่น้อย ดังนั้นการที่เสือตายไปหนึ่งตัวนับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่”
นาย U Saw Htoo Tha Po ผู้ประสานงานจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศพม่า กล่าว “การตัดไม้ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ ตัวอย่างเช่น การลักลอบตัดไม้ ซึ่งส่งผลต่อการลดขนาดถิ่นอาศัยของเสือ ทำให้เสือเข้าใกล้ถิ่นอาศัยมนุษย์มากขึ้น ซึ่งการตายของเสือตัวนี้ส่งผลต่อความเสียหายของระบบนิเวศยิ่งนัก แม้ผู้ที่ถูกเสือตัวนี้ทำร้ายก็จะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียนี้เช่นกัน”
เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ประชากรเสือทั่วทวีปเอเชียมีจำนวนลดลงเนื่องจากการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ทางIUCN (สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ) ได้ประเมินประชากรเสือทั่วโลกนั้นเหลืออยู่เพียง 2,154 ตัว ในขณะที่ประเทศพม่ามีการประเมินประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่เพียง 50 ตัวเท่านั้นในเขตอนุรักษ์เสือ (tiger reserve) ทางตอนบนของรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์เสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 กรมป่าไม้ ประเทศพม่า แถลงข่าวเกี่ยวกับจำนวนประชากรเสือซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 100 -150 ตัวภายในประเทศ โดยประมาณ 50 - 80 ตัว อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์เสือหุบเขาฮูกอง (Hukaung Valley Tiger Reserve) ในรัฐคะฉิ่น และคาดว่าประมาณ 10 - 15 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ Htamanthi และอีกประมาณ 25 - 30 ตัว อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ตะนาวศรี (Tanintharyi Nature Reserve)
นักอนุรักษ์ได้ชื่นชมการก่อตั้งเขตอนุรักษ์เสือในรัฐคะฉิ่น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ และการที่เขตอนุรักษ์ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเสือเป็นอันดับหนึ่งของโลก ได้ก่อให้เกิดความกลัวต่อความยั่งยืนของเขตอนุรักษ์เสือแห่งนี้
ทุกคนคิดว่ายังมีเสืออาศัยอยู่บ้างในบริเวณเทือกเขากะเหรี่ยง แต่แท้จริงแล้วยังไม่มีรายงานจากการสำรวจใด ๆ ในบริเวณดังกล่าวมากกว่าสิบปีแล้ว เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว เพราะในอดีต ประเทศพม่านั้นมีความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างทหารของรัฐบาล กับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มเป็นระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
นอกจากนี้ IUCN รายงานเสริมว่า ประเทศพม่าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเสือ
อ้างอิง
1. “Endangered tiger killed in Myanmar after attack: state media” from Globalpost (Agence France-Presse) on February 25, 2016
http://www.globalpost.com/article/6738140/2016/02/25/endangered-tiger-killed-myanmar-after-attack-state-media
2. “Tiger in Myanmar killed after attacking villagers” from Coconuts Yangon on February 25, 2016
http://yangon.coconuts.co/2016/02/25/tiger-myanmar-killed-after-attacking-villagers
3. “Tiger killed after attack in Kayin State” from Myanmar Times on February 26, 2016
http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/19198-tiger-killed-after-attack-in-kayin-state.html
สรุปและแปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย