ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) เผยพบเสือโคร่งครั้งสุดท้ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก่อนถูกยิงตายในประเทศพม่าเมื่อไม่นานนี้
แผนที่แสดงตำแหน่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประเทศไทย และบริเวณหมู่บ้าน Kawkareik ประเทศพม่า
(ภาพ: WCS)
“สำหรับสัตว์ป่านั้นไม่มีพรมแดนประเทศเพราะมันเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของผืนป่ารอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า และเป็นโอกาสที่พื้นที่คุ้มครองทั้งสองประเทศจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อคงไว้ซึ่งอนาคตของทั้งเสือและมนุษย์”
ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) กล่าวถึงเสือโคร่งที่ถูกยิงตายในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าเป็นเสือจากพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันพื้นที่คุ้มครองนี้มีเสืออาศัยอยู่ประมาณ 60 ถึง 70 ตัว
จากฐานข้อมูลรูปถ่ายของ camera trap ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (DNP) และจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย สามารถระบุได้ว่า เสือโคร่งดังกล่าวนั้นเป็นเสือเพศผู้ อายุประมาณ 3 ปี ซึ่งนักวิจัยตั้งชื่อว่า HKT-206M อันเป็นรหัสประจำตัวของเสือตัวนี้ มันถูกถ่ายรูปโดย camera trap ซึ่งพบครั้งสุดท้ายพร้อมกับแม่ของมัน (HKT-141F) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว นอกจากนี้ HKT-206M ยังถูกถ่ายภาพได้ขณะที่มันกำลังคาบลิ่นไว้ในปากอีกด้วย
จากการเทียบลายข้างลำตัวจากภาพเสือตายในประเทศพม่า กับภาพเสือจากกล้อง camera trap พิสูจน์ได้ว่าเป็นเสือโคร่งตัวเดียวกัน
(ภาพ: DNP และ WCS)
HKT-206M ขณะที่มันกำลังคาบลิ่นไว้ในปาก ซึ่งถ่ายภาพได้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
(ภาพ: DNP และ WCS)
HKT-206M พร้อมแม่ของมัน ซึ่งถ่ายภาพได้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
(ภาพ: DNP และ WCS)
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เสือน่าจะเดินทางจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ข้ามผ่านทิวเขาดอยมอนกุจู (Dawna Mountain range)ข้ามผ่านบริเวณเขตตะนาวศรี (Taninthayi region) ซึ่งตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างชายแดนไทยกับพม่า รวมเป็นระยะทางคาดว่าประมาณ 170 กิโลเมตร ในธรรมชาติเสือเพศผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร แต่สำหรับเสือที่ยังไม่มีพื้นที่อาศัยเป็นของตนเองอย่าง HKT-206M นี้อาจมีระยะทางการเดินที่กว้างกว่านี้ เพื่อหาพื้นที่อาศัยเป็นของตนเอง
HKT-206M ถูกยิงตายหลังจากเข้าทำร้ายชาวประมงในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) เมื่อทางตำรวจและกองกำลังชายแดน (Border Guard Force: BGF) ประเทศพม่า พยายามที่จะควบคุมมัน HKT-206M ได้พุ่งเข้าใส่ทหารนายหนึ่งและถูกยิงตายในที่สุด
ชาวบ้านบางคนเชื่อว่า การที่เสือปรากฎตัวนั้นเกี่ยวโยงกับโลกวิญญาณ โดยพระได้ทำการเก็บรักษาหนังของเสือตัวนี้ไว้ในวัด และทำพิธีเผาซากเสือที่เหลือไป
เมื่อไม่นานมานี้ ในงานศึกษาของนักวิจัยไทยร่วมกับต่างชาติ รายงานว่าประชากรเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกำลังฟื้นตัวกลับคืนมา ทั้งหมดนี้เพราะความทุ่มเทในการทำงานป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลาดตระเวนอย่างเข้มแข็ง จากการติดตามประชากรเสือโคร่งตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง 2555 พบเสือโคร่งจำนวน 90 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอยู่รอดของเสือในพื้นที่นั้นดีขึ้น
นาย Colin Poole ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าว
“จากเหตุการณ์นี้ แม้เป็นเรื่องเศร้าแต่ยังมีเรื่องดีอยู่ นั่นคือการที่เสือสามารถกระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่น ได้นั้นหมายความว่าประชากรเสือบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งนั่นเอง”
“เพราะสำหรับสัตว์ป่านั้นไม่มีพรมแดนประเทศ นั่นมันเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง ดังนั้นเรื่องนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของผืนป่ารอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า และเป็นโอกาสที่พื้นที่คุ้มครองทั้งสองประเทศจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อคงไว้ซึ่งอนาคตของทั้งเสือและมนุษย์สืบต่อไป”
จากบทความ: “Endangered Tiger Killed in Myanmar Came from Thailand” โดย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) เมื่อ 9 มีนาคม 2559
Link: http://newsroom.wcs.org/News-Releases/articleType/ArticleView/articleId/8615/Endangered-Tiger-Killed-in-Myanmar-Came-from-Thailand.aspx
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย