ซินเดอเรลล่าเป็นลูกเสือที่ใกล้ตายเนื่องจากกำพร้าแม่และต้องอาศัยอยู่ในธรรมชาติเพียงลำพัง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน เธอกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติของฝั่งตะวันออกของประเทศรัสเซีย และตอนนี้เธอมีลูกถึง 2 ตัว โดยบันทึกภาพได้จากกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเสือสามารถกลับมาอาศัยในพื้นที่นี้ ซึ่งในอดีตพื้นที่ถูกทำลายจนสภาพไม่เหมาะสมพอที่เสือจะสามารถอาศัยอยู่ได้
‘ซินเดอเรลล่า’ หรือ ‘Zolushka’ (ชื่อภาษารัสเซีย) ยืนคู่กับลูกน้อยสองตัวใต้ต้นสนใน Bastak Reserve ประเทศรัสเซีย นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่มีประชากรเสือคืนกลับมาในพื้นที่แห่งนี้ (ภาพโดย Bastak Reserve)
พื้นที่สงวนแห่งนี้ไม่มีเสือมาเกือบ 40 ปี จนกระทั่งมีการปล่อย ซินเดอเรลล่า กลับคืนสู่ธรรมชาติเมื่อสองปีก่อน และมีเสือเพศผู้จากบริเวณใกล้เคียงมาผสมพันธุ์ด้วย
เมื่อ 9 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา นาย Ivan Podkolnokov ผู้รับผิดชอบโครงการติดตามซินเดอเรลล่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ได้นำข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) กลับมาจากพื้นที่และพบว่าเป็นภาพ ซินเดอเรลล่ายืนคู่กับลูกน้อยสองตัวใต้ต้นสน
นาย Aleksandr Yuryevich Kalinin ผอ.ของพื้นที่สงวนกล่าว “นับเป็นวันที่ยอดเยี่ยมของ Bastak Reserve จากภาพเสือแม่ลูก ได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ยังมีบริเวณที่เหมาะสมเป็นถิ่นอาศัยสำหรับเสือไซบีเรียน นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงาน ได้แก่ Severtsov Institute of Ecology and Evolution, WCS, IFAW, Phoenix Fund และ Special Inspection Tiger ซึ่งได้ทำให้เป้าหมายของเราเป็นจริงขึ้นมาได้”
นอกจากนี้ ดร. Dale Miquelle ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศรัสเซีย ได้กล่าวว่า “เหตุการณ์นี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรเสือไซบีเรียน เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้เสื่อมโทรมจนเสือไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ แต่การที่มีลูกเสือเกิดใหม่นั้นหมายความว่าพื้นที่นั้นต้องสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง และยังแสดงถึงการเริ่มฟื้นฟู การขยายของประชากรเสือไซบีเรียนกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่ในฝั่งตะวันออกของประเทศรัสเซีย”
นาย Cristián Samper ประธานบริหารของ WCS กล่าว “เรื่อง ซินเดอเรลล่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่นิทาน แต่การค้นพบลูกของเธอ ได้พิสูจน์ถึงความทุ่มเทของงานอนุรักษ์ที่สัมฤทธิ์ผล และแสดงถึงความหวังที่จะสามารถฟื้นฟูประชากรเสือไซบีเรียนให้กลับมาในพื้นที่แห่งนี้ได้อีก”
เรื่องราวของซินเดอเรลล่าคงต้องเล่าย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เมื่อนักล่าสัตว์พบลูกเสือเพศเมีย อายุ 4 เดือน ทางตอนใต้ของ Primorskii Krai ซึ่งเป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยสุดท้ายของเสือไซบีเรียน ตอนนั้นเธออยู่ในสภาพหิวโซและปลายหางเป็นแผลเนื่องจากถูกความเย็นจัดของหิมะ จึงถูกส่งตัวต่อไปเพื่อรับการดูแลรักษา แม้ว่าต้องตัดปลายหางทิ้ง แต่ซินเดอเรลล่าก็ฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี และถูกส่งไปที่ Aleksayevka Rehabilitation Center ซึ่งบริหารโดย Inspection Tiger และได้รับการสนับสนุนโดย Russian Geographical Society
ในระหว่างนั้นซินเดอเรลล่าถูกดูแลโดยไม่ให้ใกล้ชิดกับมนุษย์ มีการให้เหยื่อที่ยังไม่ตายเป็นอาหาร เพื่อฝึกให้ล่าเหยื่อด้วยตนเอง จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ซินเดอเรลล่ามีอายุประมาณ 20 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เสือจะเริ่มออกไปหาพื้นที่ครอบครองเป็นของตัวเอง ซินเดอเรลล่าถูกส่งไป Bastak Reserve เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเธอสามารถเรียนรู้ที่จะสำรวจเหยื่อ (หมูป่า แบดเจอร์ และกวางแดง) และพื้นที่ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
WCS ได้ให้การช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Severtsov (สถาบันวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย) ในการเคลื่อนย้ายซินเดอเรลล่า ตลอดจนการปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ รวมระยะทางทั้งสิ้น 700 กม. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ WCS ได้ติดตามการเคลื่อนที่ของเสือ เพื่อให้มั่นใจว่าเธอสามารถหาที่อยู่อาศัย และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ในธรรมชาติได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่น่าวิตกคือ เมื่อ 40 ปีก่อน เสือไซบีเรียนเคยหมดไปจากผืนป่าในพื้นที่สงวนแห่งนี้ ทำให้ซินเดอเรลล่าต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ปัญหาก็คลี่คลายลงเมื่อมีเสือหนุ่มมาจากทางตะวันตกของช่วงแนวการกระจายเสือในรัสเซียตอนบน ด้วยระยะทางกว่า 200 กม. จนถึง Bastak Reserve หลังจากนั้นจึงพบร่องรอยของซินเดอเรลล่าพร้อมกับรอยของตัวใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ แต่ก็ต้องใช้เวลารอจนกว่าซินเดอเรลล่าจะโตเต็มวัยและพร้อมผสมพันธุ์
ในการดูแลฟื้นฟูสภาพร่างกายซินเดอเรลล่า ตลอดจนการปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ และเฝ้าติดตามหลังจากนั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง WCS และหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ Liz Claiborne and Art Ortenberg Foundation, Columbus Zoo and Aquarium, International Fund for Animal Welfare (IFAW) และ AZA Tiger Species Survival Plan Tiger Conservation Campaign รวมถึงผู้ร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ A. N. Severtsov Institute of Ecology and Evolution จาก Russian Academy of Sciences, the Russian Geographical Society, Inspection Tiger, IFAW และ Phoenix Fund
จากบทความ: “Cinderella Becomes a Mother!” โดย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) เมื่อ 10 ธันวาคม 2558
Link: http://newsroom.wcs.org/News-Releases/articleType/ArticleView/articleId/8378/Cinderella-Becomes-a-Mother.aspx
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย