(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
จากการปะทะกับพรานล่าเสือโคร่งขณะปฎิบัติภารกิจลาดตระเวน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทิ้งรอยแผลเป็นจากการถูกยิงยาว 4 นิ้ว บริเวณลำคอของนาย ยอด วงศ์ดวงดำ อายุ 32 ปี ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจให้นึกถึงอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งมีการค้าขายคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาทในแต่ละปี (ข้อมูล: องค์กร Global Financial Integrity ในวอชิงตัน ดี.ซี.)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 2,700 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่คุ้มครองแห่งหนึ่งที่พรานมักเข้าไปลักลอบล่าเสือโคร่ง ซึ่งจะสามารถทำเงินให้พวกเขาได้หลายแสนบาทในตลาดมืด ซึ่งตลาดปลายทางส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน โดยมีการซื้อขายไม่ว่าจะเป็น เนื้อ ชิ้นส่วนกระดูกซึ่งนำมาต้มเป็นไวน์ หรือพรมจากหนังเสือซึ่งใช้ในหมู่คนรวยในประเทศจีน
นาย ยอด วงศ์ดวงดำ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกยิงบริเวณลำคอจากการปะทะกับพรานล่าเสือโคร่ง เมื่อปี พ.ศ. 2556 (ภาพ: Thomas Maresca)
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพร้อมด้วยอาวุธปืน นับว่าเป็นงานที่เสี่ยงต่อชีวิตในการปกป้องสัตว์ป่าจากพรานลักลอบล่าสัตว์ ในพื้นที่คุ้มครองขนาดประมาณ 2,700 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของประเทศไทย (ภาพ: Thomas Maresca)
ความต้องการชิ้นส่วนอวัยวะเสือจากตลาดมืด การสูญเสียถิ่นอาศัย รวมถึงการที่เหยื่อของมันถูกล่าเป็นจำนวนมาก ปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้เสือโคร่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 20 ขณะนั้นทั่วโลกมีเสือโคร่งอยู่ราว 100,000 ตัวในธรรมชาติ แต่ปัจจุบันกลับมีจำนวนน้อยกว่า 4,000 ตัว (ข้อมูล: กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และโครงการความร่วมมือเสือโคร่ง (Global Tiger Initiative))
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มดีขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง “ในปี พ.ศ. 2549 มีเสือโคร่งประมาณ 50 ตัว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 80 ตัวในปี พ.ศ. 2559 ทำให้เสือโคร่งในห้วยขาแข้งกลายเป็นประชากรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายสมโภช มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าว
ภาพเสือโคร่งซึ่งถ่ายได้จากกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
นอกจากนี้มีการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) มาใช้ในด้านงานป้องกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ซึ่งมีการใช้ฐานข้อมูลร่วมกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองที่อยู่ติดกันคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
Colin Poole ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าว “ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติกำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงอะไรที่เป็นไปได้ และจะต้องทำอย่างไร ซึ่งผืนป่าห้วยขาแข้งและรอบ ๆ นั้นมีขนาดใหญ่มาก ทำให้มันมีศักยภาพพอที่จะเพิ่มประชากรเสือโคร่งบริเวณนั้นได้
เสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
(ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
ทั้งนี้ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกกำลังเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2553 ประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มประชากรเสือโคร่งภายในปี พ.ศ. 2565 ให้ได้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจำนวนเสือโคร่งเพิ่มจาก 3,200 ตัว เป็น 3,980 ตัว อย่างไรก็ตามที่จำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการประยุกต์ใช้เทคนิคการสำรวจประชากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ข้อมูล: รายงานเดือนเมษายน 2559 โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และโครงการความร่วมมือเสือโคร่ง (Global Tiger Initiative))
แม้แต่ละประเทศจะร่วมกันอนุรักษ์เพื่อเพิ่มประชากรเสือโคร่ง แต่ความต้องการชิ้นส่วนอวัยวะเสือโคร่งในตลาดมืดก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากสินค้าสัตว์ป่ามีราคาสูงมากโดยเฉพาะในประเทศจีน สินค้าซื้อขายที่เป็นที่ต้องการอย่างมากมีตั้งแต่ อวัยวะเสือโคร่ง เกล็ดลิ่น นอแรด และไม้พะยูง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ การล่าเสือโคร่งได้เพิ่มมากขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่เยอะที่สุดในโลก เพียง 5 เดือนแรกในปี พ.ศ. 2559 มีเสือถูกฆ่าไป 30 ตัว ซึ่งมากกว่าเสือที่ถูกฆ่าปีที่แล้วทั้งปี โดยถูกฆ่าตายไป 26 ตัว (ข้อมูล: หน่วยงานตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency; EIA) ในกรุงลอนดอน)
“สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียและทั่วโลกตอนนี้ กำลังส่งสัญญาณให้รู้ว่า ความต้องการสำหรับชิ้นส่วนอวัยวะเสือนั้นไม่ได้ลดลง และจริง ๆ แล้วจะยังคงมีการค้าชิ้นส่วนอวัยวะทุกอย่างของเสือโคร่งไปตลอด” Shruti Suresh เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านรณรงค์เกี่ยวกับสัตว์ป่า จากหน่วยงาน EIA กล่าว
นอกจากนี้ฟาร์มเสือโคร่งซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนองความต้องการของตลาดมืด จากรายงานของ EIA ระบุว่า มีเสือโคร่งในกรงเลี้ยงทั้งหมด 7,000 – 8,000 ตัว ในฟาร์มเสือซึ่งตั้งกระจายมากกว่า 200 แห่งในประเทศจีน ลาว เวียดนาม และไทย โดยฟาร์มเสือหลาย ๆ แห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง แต่เบื้องหลังมักจะเกี่ยวข้องกับการค้าเสือและสินค้าจากเสือให้ประเทศจีน
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ วัดเสือ จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้เข้าตรวจสอบ พบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าเสือ และได้ยึดเสือ 137 ตัว ออกจากวัดป่าแห่งนี้ พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิดรวม 22 คน หลังตรวจพบซากลูกเสือแช่แข็ง 40 ตัว ซากลูกเสือที่ถูกดองในขวดโหล 30 ตัว และตะกรุดที่ทำจากหนังเสือกว่า 1,000 ชิ้น
เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าทางตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพ: Thomas Maresca)
หน่วยพิทักษ์ป่าของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ภาพ: Thomas Maresca)
รายงานของ EIA ระบุว่า เส้นทางการค้าเสือโคร่งนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ โดยผ่านทางประเทศอินเดีย เนปาล พม่า ลาว และจีน
“เนื่องจากอาชญากรรมสัตว์ป่า ถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้สูง และมีความเสี่ยงต่ำ” John Scanlon เลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora; CITES) กล่าว
ในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดตั้ง สมาคมนานาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า (International Consortium on Combating Wildlife Crime; ICCWC) เป็นการรวมเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจาก CITES องค์การตำรวจสากล (Interpol) ธนาคารโลก (World Bank) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) โดยมีโครงการระยะ 5 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development; USAID) ได้ระบุถึงความพยายามที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายในเอเชีย พบว่าได้เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า
“เราได้เห็นการทำงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว หนทางเดียวในการปราบปรามอาชญากรรมด้านสัตว์ป่านั้น เราต้องลงมือปฎิบัติอย่างจริงจังเฉกเช่นเดียวกับการปราบปรามการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์” John Scanlon กล่าว
ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังมีการพบเห็นการล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ ทุกเดือนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบร่องรอยพรานล่าสัตว์ เช่น กับดัก ซากสัตว์ที่โดนล่า เป็นต้น ซึ่งพรานล่าสัตว์อาจเป็นคนในหมู่บ้าน และอาจเป็นพรานมืออาชีพลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ในพื้นที่เช่นกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธ อุปกรณ์ เครื่องมือจากขบวนการอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมีเพียงอาวุธปืนในการป้องกันตัว หากมีการปะทะกันเกิดขึ้น
“พวกพรานมีอาวุธที่ทันสมัยกว่าเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นพวกปืน AK-47 ในขณะที่พวกเราเจ้าหน้าที่มีเพียงปืนลูกซองเก่า ๆ อีกทั้งมีกฎห้ามเจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้ก่อนอีกด้วย” นาย ยอด เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนซึ่งเคยปะทะกับพรานล่าเสือโคร่งเมื่อปี พ.ศ. 2556 กล่าว
ในปี พ.ศ. 2556 มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ถูกพรานยิงตาย 2 นาย ทั้งนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากทั่วประเทศมีเจ้าหน้าที่อีกหลายสิบคนถูกยิงตายขณะปฎิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศชาติ จากข้อมูลของ Thin Green Line Foundation พบว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั่วโลกถึง 1,000 นาย ที่ต้องเสียชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรณี นาย พร้อมพงศ์ ไวทันยการ อายุ 30 ปี เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถูกเสือแม่ลูกอ่อนทำร้ายได้รับบาดเจ็บ โดยโดนแม่เสือตะปบเข้าที่ศีรษะ ขณะเดินลาดตระเวน เนื่องจากบังเอิญเดินเข้าไปใกล้บริเวณที่แม่เสือเลี้ยงลูก
นาย พร้อมพงศ์ ไวทันยการ อายุ 30 ปี เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกเสือโคร่งทำร้าย ได้รับบาดเจ็บบริเวณด้านหลังศีรษะ (ภาพ: Thomas Maresca)
นาย พร้อมพงศ์ พักรักษาตัวเพียง 1 เดือนแล้วกลับไปทำงานตามปกติ “พวกเรามาทำงานตรงนี้ เพราะต้องการจะปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ผมถูกเสือโคร่งเข้าทำร้าย ผมไม่โทษเขานะ เพราะไม่ใช่ปัญหา แต่คนต่างหากที่เป็นอันตรายมากกว่า” นาย พร้อมพงศ์ กล่าว
เจ้าหน้าที่กำลังอ่านแผนที่ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตในการทำงานเพื่อปกป้องสัตว์ป่าจากการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งมีการค้าขายคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาทในแต่ละปี (ข้อมูล: องค์กร Global Financial Integrity ในวอชิงตัน ดี.ซี.) (ภาพ: Thomas Maresca)
เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบพิกัดจาก GPS ขณะเดินลาดตระเวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าอนุรักษ์ขนาด 2,700 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของประเทศไทย ที่ที่พรานมักเข้าไปลักลอบล่าเสือโคร่ง ซึ่งจะสามารถทำเงินให้พวกเขาได้หลายแสนบาทในตลาดมืด ซึ่งตลาดปลายทางส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน โดยมีการซื้อขายไม่ว่าจะเป็น เนื้อ ชิ้นส่วนกระดูกซึ่งนำมาต้มเป็นไวน์ หรือพรมจากหนังเสือซึ่งใช้ในหมู่คนรวยในประเทศจีน (ภาพ: Thomas Maresca)
รับชมวิดีทัศน์ จากข้อมูลขององค์กร Global Financial Integrity ในวอชิงตัน ดี.ซี. เผยถึง ความเสี่ยงในหน้าที่การทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งมีการค้าขายคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาทในแต่ละปี
จากบทความ: “Rangers risk lives to save endangered tigers” โดย Thomas Maresca จาก USA TODAY ข่าวเมื่อ 29 กันยายน 2559
แปลโดย: สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย