ในเช้าวันอาทิตย์ ปลายเดือนมกราคม 2559 หากมีใครผ่ านไปบริเวณลานสนามหญ้าด้านประตูทางเข้าของ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) จะเห็นว่ามีการรวมตัวของคนกว่า 100 คน มานั่งพูดคุยทำความรู้จักกัน มาทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วยกัน และมาเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะไปเป็นเพื่อนกับป่าและสัตว์ป่าในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งด้วยกัน ทุกคนล้วนเป็นคนวัยหนุ่มสาวไปจนถึงกลุ่มวัยกลางคนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ วันนั้นเป็นวันปฐมนิเทศผู้สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของโครงการ “เพื่อนป่า เพื่อนสัตว์ป่า เพื่อนอาสา เพื่อนห้วยขาแข้ง” และวันนั้นเองที่เป็นวันเริ่มต้นอย่างแท้จริงของภารกิจตามหาเพื่อนให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของเรา
เพราะเราคิดว่าป่าต้องการเพื่อน สัตว์ป่าก็ยังต้องการเพื่อน และห้วยขาแข้งก็ยังต้องการเพื่อน แต่เราไม่ได้ต้องการเพียงแค่เพื่อนที่รู้จักกันเท่านั้น เราอยากได้เพื่อนที่รู้จักเพื่อนเป็นอย่างดี เพื่อนที่เข้าใจในเพื่อน เพื่อนที่พร้อมที่จะเสียสละตัวเองมาช่วยดูแลเพื่อน และพร้อมที่จะปกป้องเพื่อนในยามที่เพื่อนมีปัญหาและมีภัย
นับจากวันนั้น เราจึงเริ่มพาเพื่อน (อาสาสมัคร) กว่า 80 ชีวิต ไปรู้จักกับเพื่อน (สัตว์ป่าและผืนป่าห้วยขาแข้ง) ในกิจกรรม “กอดห้วยขาแข้ง” ในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ สามวันของชีวิตในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง อาสาสมัครทุกคนได้ทำความรู้จักกับเพื่อนที่เป็นป่าและสัตว์ป่าอย่างแท้จริง ได้มีโอกาสเรียนรู้คุณค่าความสำคัญของผืนป่าและสัตว์ป่าที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต ได้เรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนที่โดดเด่นในผืนป่าห้วยขาแข้ง นั่นคือ เสือโคร่ง และสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด รวมถึงได้มีโอกาสเดินศึกษาธรรมชาติในบ้านของสัตว์ป่ากับผู้พิทักษ์ป่าอีกด้วย ผลจากกิจกรรมในครั้งนั้น นำมาสู่ความเข้าใจและสู่การช่วยกันคิดของอาสาสมัครในบทบาทและแนวทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อนที่ชื่อ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง"
จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าและองค์กรภาคี กับผู้ประสานงานของกลุ่มอาสาสมัคร ตลอดระยะเวลา 4 เดือน (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม) จึงนำมาสู่กิจกรรม “อาสาลงแรง” ที่ได้จัดขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในครั้งนี้เรามีเพื่อนมาช่วยลงแรงกันมากกว่า 100 คนจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยทั้งอาสารุ่นแรก และอาสาสมัครรุ่นใหม่ สองวันหนึ่งคืนกับการลงแรงร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “อาณาจักรนกหัวขวาน” รวมถึงช่วยกันสร้างจุดดูนก (Bird Café) เพื่อรองรับผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ รู้จักธรรมชาติและสัตว์ป่าในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง แม้ฝนจะตก แม้แดดจะร้อน แต่ความสุขใจก็เกิดขึ้นทั้งกับอาสาสมัครทุกคน คณะทำงานทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งที่มาร่วมลงแรงด้วยกัน
ก่อนสิ้นสุดกิจกรรม "อาสาลงแรง" สาวน้อยคนหนึ่งจากกรุงเทพฯ กล่าวสั้น ๆ ว่า “อยากขอบคุณห้วยขาแข้งและสัตว์ป่าทุกตัวที่ให้โอกาสให้พวกเราได้มาเป็นเพื่อน เราจะพยายามเรียนรู้และรู้จักเพื่อนของเราให้ดีที่สุด เพราะเราเข้าใจแล้วว่าเพื่อนของเรายิ่งใหญ่และสำคัญเพียงใด"
สามประโยคสั้น ๆ นั้นเองที่ทำให้คณะทำงานทุกคนแอบยิ้มอยู่ในใจ ภารกิจตามหาเพื่อนให้ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งของเรา ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นแล้วในทุก ๆ วัน...