ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการลาดตระเวน ในพื้นที่อนุรักษ์

Smart Patrol Technique for Protected Area Management

 

ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่าทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เสือโคร่ง ช้างป่า ไม้กฤษณา ไม้พะยูง ฯลฯ ซึ่งล้วนมีมูลค่าสูง มีผู้คิดตักตวงผลประโยชน์ตลอดเวลา ทรัพยากรเหล่านี้จึงเสื่อมสภาพหรือสูญพันธุ์ไปในพื้นที่ที่มีการป้องกันที่อ่อนแอ ในด้านการคุ้มครองป้องกัน การมีระบบลาดตระเวนโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นรูปแบบมาตรฐานในการปกปักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าสูงให้คงอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลก แต่ความเป็นจริงที่น่าหดหู่คือ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่มีมูลค่าสูงได้ถูกลักลอบล่าและตัดฟันจนใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลรักษา แต่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นเจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์ในหลายประเทศจึงได้พยายามพัฒนาระบบลาดตระเวนให้ทันสมัยโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยในประเทศไทยเรียกระบบนี้ว่า ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System)” ซึ่งใช้ระบบฐานข้อมูล ชื่อว่า สมาร์ท SMART (Spatial Monitoring And Reporting Tool) มีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลและเทคโนโลยีดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีกำลังใจที่เข้มแข็ง และมีความภูมิใจในหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า เป้าหมายสูงสุดของระบบนี้คือ เพื่อให้สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่มีค่าและใกล้สูญพันธุ์เหล่านั้นรอดพ้นจากความโลภและความไม่ใส่ใจของมนุษย์ที่ยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคม และให้โอกาสแก่สัตว์ป่าและพันธุ์พืชทำหน้าที่ดำรงรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่สังคมโดยรวมตลอดไป

ดังนั้น ด้วยการตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาระบบลาดตระเวนในพื้นที่อนุรักษ์ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ชุดครูฝึกกองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 2 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองกำกับการฝึกอบรมพิเศษ 6 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 3 จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลาดตระเวนในระดับต่าง ๆ ภายใต้ โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวน ตามหลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ หากต้องการให้การลาดตระเวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ การพัฒนาบุคลากรจะต้องไม่ใช่เพียงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลัง เต็มความสามารถ ภายใต้การสนับสนุนด้านความรู้เทคนิค อุปกรณ์ และเสบียงอย่างเพียงพอ

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลาดตระเวนในระดับพื้นที่ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน พิทักษ์ป่าพนักงาน ลูกจ้าง และข้าราชการในพื้นที่ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบและเทคนิคการลาดตระเวนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในระดับข้าราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของการลาดตระเวนในระดับพื้นที่โดยตรง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการลาดตระเวน มีความรู้ ความเข้าใจถึงระดับที่สามารถวางแผนการดำเนินการลาดตระเวนบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงวิชาการ สามารถตรวจวัด ติดตาม และประเมินผลการลาดตระเวนได้อย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาบุคลากรให้สามารถตรวจวัดพัฒนาการ และความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น และประเมินความต้องการในการฝึกอบรม (Need Assessment) อย่างเหมาะสมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับความรับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมายคือ

1. ระดับปฏิบัติการ

ปัจจุบัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่นำร่องในการนำอุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการลาดตระเวน โดยเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการได้เรียนรู้และใช้จัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ตามเส้นทางที่ได้ลาดตระเวน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนเส้นทางลาดตระเวน ด้วยผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ขยายผลการดำเนินงานสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น โดยจัดการฝึกอบรมในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป

    


เทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เป็นคู่มือใช้ประกอบในการฝึกอบรมเนื้อหาในการฝึกอบรมประกอบด้วย การเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย เทคนิคการลาดตระเวน เทคนิคการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเทคนิค การปฐมพยาบาลภาคสนาม เทคนิคการใช้และบำรุงรักษาอาวุธ รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ การใช้แผนที่ และเข็มทิศเพื่อการนำทางและกำหนดเส้นทางลาดตระเวน การใช้ GPS เพื่อแสดงพิกัดตำแหน่ง การจำแนกร่องรอยสัตว์ป่า การใช้วิทยุสื่อสาร การทำความเข้าใจและการจดบันทึกในแบบฟอร์มลาดตระเวนที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการใช้กล้องดิจิตอลเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ สภาพพื้นที่ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่น่าสนใจ 

2. ระดับหัวหน้าหน่วยงาน

การพัฒนาและเสริมสร้างประสิทธิภาพบุคลากรในระดับหัวหน้างานถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอีกประการหนึ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสำนักงาน หรือระดับข้าราชการ ผู้ควบคุม และรับผิดชอบพื้นที่อนุรักษ์ บุคลากรระดับหัวหน้างานจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันงานลาดตระเวนให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมาย อีกทั้งเป็นผู้ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และประเมินผลงานในเชิงปริมาณและคุณภาพในเวลาที่รวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบลาดตระเวนให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ส่งผลให้การบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เอื้อต่อการดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนากลยุทธในการวางแผนการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในวงกว้างต่อไป

ความสำคัญดังกล่าวจึงนำไปสู่แนวคิดในการเสริมสร้างระบบการลาดตระเวนภายใต้ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART ด้วยระบบดังกล่าว บุคลากรในระดับหัวหน้างานจะสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของการลาดตระเวน ผ่านการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อมูลด้านสถานภาพสัตว์ป่า และปัจจัยคุกคามที่ตรวจพบในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละพื้นที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของปัจจัยคุกคามได้ในเบื้องต้น นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวน และการจัดการเพื่อป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างตรงจุด ระบบดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี .. 2556 และใช้กันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย โดยสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS)

 

เนื้อหาวิชาในการฝึกอบรมระดับหัวหน้าหน่วยงานประกอบด้วย การแนะนำสถานการณ์ และความจำเป็นในการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ แนะนำแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล และโครงสร้างของระบบฐานข้อมูล SMART การจัดระบบข้อมูลจากการลาดตระเวน การวิเคราะห์ผล การจัดทำรายงาน และการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากระบบฐานข้อมูล SMART

ปัจจุบัน พื้นที่อนุรักษ์ตามเป้าหมายการขยายผลในโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ กำลังรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง จากมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของการอนุรักษ์ในประเทศไทยสู่พื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น โดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในขณะที่วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่ากำลังถูกคิดค้น ทดสอบ ปรับปรุง และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง